เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีการเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) อีกครั้ง หลังจากในอดีตที่ผ่านมา ได้มีการยกร่างขึ้นแล้วและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างกฎหมายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการสานต่อ และตนได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจ และถ้าหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมจะดำเนินการต่อในทันที
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวไว้ว่า...
“แนวคิดของร่างกฎหมายดังกล่าว ผมก็มีส่วนในการผลักดันเมื่อหลายปีที่แล้ว ถือว่าเป็นกฎหมายที่มองไปในอนาคต ว่าเมื่อเมืองมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟฟ้า ,ทางด่วน เป็นต้น ทำให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการของรัฐ ปรับราคาขึ้น ก็ควรแบ่งผลประโยชน์ส่วนหนึ่งมาให้กับรัฐ”
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 ได้มีการอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5 %ของมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้า,รถไฟความเร็วสูง,สนามบิน,ท่าเรือหรือโครงการสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลเลยชะลอการจัดเก็บไปก่อน
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการร่างกฎหมายนี้คือ...
“เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้น”
ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีลาภลอย จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบไปด้วย
ช่วงที่ 1
คือ ช่วงตั้งแต่วันลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้น ๆ จนถึงวันตรวจรับมอบโครงการ หรือเรียกว่าเป็นช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค การซื้อขายที่ดินในช่วงนี้ จะถูกจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) ในทุกครั้งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีเฉพาะมูลค่าที่ดิน ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ณ วันที่ได้รับที่ดินแปลงนั้นมา กับราคาประเมินที่ดินในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการนั้น (ช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค)
ช่วงที่ 2
คือ ช่วงที่ก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นแล้วเสร็จ จะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว ( one Time) ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีจากมูลค่าที่ปรับเพิ่มขึ้น เฉพาะที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น มูลค่าที่ดินที่ต่ำกว่านี้ไม่มีภาระภาษี และยกเว้นที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม
สรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับภาษีลาภลอย
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดิน, บ้าน, คอนโด ที่มูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท และอยู่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้า,รถไฟความเร็วสูง,สนามบิน,ท่าเรือหรือโครงการสาธารณูปโภค(ตามที่กฎหมายกำหนด) ในระยะ 5 กิโลเมตร ต่อไปนี้ราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคุณจะมีราคาที่สูงขึ้น และถ้าคิดจะขายคุณก็จำเป็นที่จะต้องเสีย “ภาษีลาภลอย” เพิ่มขึ้นอีก 5%
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง