สำหรับท่านใดที่กำลังมีแพลนจะขอสินเชื่อหอพัก/อพาร์ทเม้นท์อยู่ล่ะก็ บทความนี้ทางทีมงาน Renthub จึงได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอสินเชื่อหอพักมาฝาก เพื่อที่คุณจะได้นำข้อมูลที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ไปจัดการเตรียมตัวเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนที่จะยื่นเรื่องกับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปพบกับข้อมูลและขั้นตอนเกี่ยวกับการขอสินเชื่อหอพักกันเลย!
สินเชื่อหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ มีจริงหรอ ?
สำหรับสินเชื่อหอพักนั้นมีอยู่จริง แต่! การเรียกชื่อของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นจะแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์จะเรียกว่าสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า ธนาคารกสิกรไทยจะเรียกว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจอพาร์ทเม้นท์และโรงแรม ธนาคารไทยเครดิตจะเรียกว่าสินเชื่อเพื่อสร้างอพาร์ทเม้นท์-หอพัก เป็นต้น ซึ่งสินเชื่อหอพักนั้นจะเป็นสินเชื่อคนละประเภทกับสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยแบบทั่วๆ ไป แต่จะอยู่ในประเภท “สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ” นั่นเอง
วงเงินในการกู้สินเชื่อหอพัก
ในส่วนของวงเงินการกู้สินเชื่อหอพักนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดและเงื่อนไขของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นหลัก ซึ่งบางแห่งสามารถกู้ได้สูงสุดถึง 100%(มูลค่าของโครงการ) แต่บางแห่งจะปล่อยวงเงินอยู่ที่ประมาณ 80%(มูลค่าของโครงการ) เท่านั้น เพราะฉะนั้นรายละเอียดในส่วนนี้ผู้ประกอบการจะต้องสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารหรือสถาบันการเงินโดยตรง เพื่อที่จะได้รับข้อมูลที่แม่นยำมากที่สุด
ขั้นตอนการยื่นเรื่องขอสินเชื่อหอพัก
สำหรับขั้นตอนการยื่นเรื่องเพื่อขอสินเชื่อหอพักนั้น จะมีขั้นตอนคล้ายๆ กับการขอสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยให้คุณเริ่มที่...
1.หาข้อมูลของธนาคาร/สถาบันการเงินก่อนตัดสินใจ
หาข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับดอกเบี้ย/เงื่อนไข/วงเงินกู้สูงสุดของแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินให้ดี ก่อนที่คุณจะตัดสินใจ
2.ยื่นเรื่องพร้อมเอกสาร
หลังจากที่ตัดสินใจเลือกธนาคารหรือสถาบันการเงินได้แล้ว ลำดับต่อมาคือการยื่นเรื่องพร้อมเอกสารที่สำคัญ โดยเอกสารที่คุณจะต้องจัดเตรียมก็มีดังนี้
กรณีบุคคลธรรมดา
สำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นเรื่องกู้
สำเนาบัตรประชาชนของคู่สมรส (ถ้ามี)
รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือนของผู้ยื่นเรื่องกู้
ประวัติของผู้ยื่นเรื่องกู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ
กรณีนิติบุคคล
สำเนาหนังสือรับรองบริษัท (อายุไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันที่ออกเอกสาร)
สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น
สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ
สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจลงนาม
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจลงนาม
งบการเงินย้อนหลัง 3 ปี
รายการเดินบัญชีนิติบุคคลย้อนหลัง 6 เดือน
รายการเดินบัญชีของกรรมการนิติบุคคลย้อนหลัง 6 เดือน
ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
สำเนาโฉนดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกัน
รายละเอียดการก่อสร้าง ใบอนุญาตก่อนสร้างและแผนผังสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้การขอเอกสารขอแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดเป็นหลัก แต่! สิ่งที่เราอยากจะให้คุณจำให้ขึ้นใจเลยก็คือ “ยิ่งมีเอกสารครบถ้วนมากเท่าไหร่ ระยะเวลาและผลในการอนุมัติสินเชื่อก็จะรวดเร็วและมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น”
3.รอผลการอนุมัติ
หลังจากที่คุณจัดการยื่นเรื่องและส่งเอกสารให้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปก็คือการรอผลการอนุมัติ ซึ่งถ้าคุณผ่านการอนุมัติเรียบร้อยก็เตรียมตัวทำสัญญากู้สินเชื่อได้เลยทันที ทั้งนี้ระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อหอพักนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 3 อาทิตย์ หรืออาจะเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับหลักการพิจารณาของทางธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นหลัก
ปัจจัยสำคัญที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำมาพิจารณาในการอนุมัติสินเชื่อหอพัก
ผู้ยื่นเรื่องกู้จะต้องมีประวัติทางการเงินที่ดี ไม่ติดแบล็คลิสต์หรือติดบูโร
กรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องเป็นของผู้ยื่นเรื่องกู้ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกันทางตรง อาทิเช่น บิดามารดา คู่สมรส บุตร ฯลฯ (จะต้องสามารถตรวจสอบสถานภาพได้ตามนิตินัย)
รายได้ขั้นต่ำต่อเดือน(ของธุรกิจ)จะต้องเป็นไปตามที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนด
ที่ตั้งของธุรกิจโดยจะต้องอยู่ในเขตพื้นที่ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินกำหนด
ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะพิจารณาว่า สาธารณูปโภคที่พื้นที่ที่โครงการตั้งอยู่ ได้แก่ ประปา ไฟฟ้า ถนน เพียบพร้อมหรือไม่ ?
ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจของผู้ยื่นเรื่องกู้เป็นอย่างไร ? ประกอบธุรกิจก่อนหน้ามาแล้วกี่ปี ?
รายได้ประจำ/รายได้เสริมของผู้ยื่นเรื่องกู้ มีความมั่นคงมากน้อยขนาดไหน ?
โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำไปพิจารณาต่อการอนุมัติสินเชื่อหอพักทั้งสิ้น
รายละเอียดข้างต้นเป็นข้อมูลที่ทางทีมงาน Renthub ได้นำมาฝาก และเราหวังว่าบทความนี้คงจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ต้องการลงทุนสร้างหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งในบทความหน้าจะมีข้อมูลดีๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามบทความที่น่าสนใจได้ที่ Renthub Blog