สำหรับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการ “กู้ยืมเงิน กยศ.” อยู่ล่ะก็ บทความนี้พี่ก็ได้สรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน กยศ. ในเรื่องต่าง ๆ มาฝากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการกู้ยืมเงิน กยศ. การจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ฯลฯ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปพบกับข้อมูลการทำเรื่องขอกู้ยืมเงิน กยศ. พร้อม ๆ กันเลย
กยศ. คืออะไร ?
กยศ. มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” ซึ่งเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ส่งเสริมและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมไปถึงยังช่วยในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพให้กับน้อง ๆ อีกด้วย และเมื่อน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาเรียนจบแล้ว ก็จะต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด (ซึ่งดอกเบี้ยของ กยศ. ค่อนข้างที่จะต่ำมาก ๆ ฉะนั้นเมื่อเรียนจบแล้ว อย่าลืมผ่อนชำระคืนกันน้าา เพื่อที่ กยศ.จะได้นำเงินไปหมุนเวียนให้กับน้อง ๆ รุ่นต่อไป)
คุณสมบัติผู้กู้ กยศ. ปี 2567
กองทุนสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา หรือ กยศ. ให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
- รายได้ครอบครัว ไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
- ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย ปวช. ปวส. อนุปริญญาตรี และปริญญาตรี
- อายุในขณะที่ขอกู้ยืมเงิน เมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
- มีการทำประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
2. เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคน และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
- กู้ยืมค่าเล่าเรียน ไม่จำกัดรายได้ของครอบครัว
- กู้ยืมเงินค่าครองชีพ รายได้ของครอบครัวต้องไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี
- ระดับการศึกษา ปวส. อนุปริญญาตรี ปริญญาตรี
- อายุไม่เกิน 30 ปี ในปีการศึกษาที่ยื่นคำขอกู้
- ทำประโยชน์ต่อสังคม และสาธารณะ
สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้ กยศ. อื่น ๆ มีดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- ศึกษาในสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนเพียงแห่งเดียวในภาคการศึกษาเดียวกัน
- มีผลการเรียนดี
- มีความประพฤติดี
- ไม่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดมาก่อน
- ไม่เป็นผู้ปฏิบัติงาน และรับเงินเดือน หรือค่าจ้างในหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ในลักษณะเต็มเวลา
- ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุนเว้นแต่จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ขอกู้ยืมรายใดเคยกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. หรือกองทุน กรอ. มาแล้ว แต่ผิดนัดชำระหนี้ และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนฟ้องคดี และ/หรือเคยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมาแล้ว ผู้ขอกู้ยืมรายนั้นสามารถกู้ยืมเงินกองทุนต่อไป หากได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนเสร็จสิ้นแล้ว
เอกสารประกอบการยื่นคำขอกู้ยืม กยศ.
ผู้กู้ยืมรายใหม่/รายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา/ ย้ายสถานศึกษา/เปลี่ยนหลักสูตร
- ผู้กู้ยืม
- บิดา มารดา (ผู้แทนโดยชอบธรรม*)/ผู้ปกครอง
- คู่สมรส (ถ้ามี)
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน - ผู้กู้ยืม
- บิดา มารดา (ผู้แทนโดยชอบธรรม*)/ผู้ปกครอง
- คู่สมรส (ถ้ามี)
3. เอกสารประกอบการรับรองรายได้ของครอบครัว
- กรณีมีรายได้ประจำ ใช้สลิปเงินเดือน/หนังสือรับรองเงินเดือน
- กรณีไม่มีรายได้ประจำ/ไม่มีรายได้ เช่น ค้าขาย รับจ้าง เกษตรกร ใช้แบบฟอร์ม กยศ.102 พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ/ข้าราชการ/ หัวหน้าสถานศึกษา
* กรณีผู้กู้ยืมอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมผู้กู้ยืมต้องเตรียมเอกสาร กรอกเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน รายละเอียดชัดเจนโดยสามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเอกสารต่างๆ หรือสแกนเอกสารเป็นแนวตั้ง เพื่อแนบไฟล์เข้าระบบ DSL
- PDF / JPEG / GIF / TIFF / PNG ขนาดไม่เกิน 10 MB
- เอกสารต้องรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้าของเอกสาร
- สำเนาบัตรฯ ไม่หมดอายุ ขีดฆ่าหรือปิดทับข้อมูลศาสนาตาม พ.ร.บ.คุมครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
- เอกสารต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับที่จะบันทึกในระบบ
- หนังสือให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูล ผู้กู้ยืมสามารถเขียนได้ แต่ทั้งนี้ต้องให้เจ้าของเอกสารลงชื่อด้วยตนเอง
ขั้นตอนการกู้ยืม กยศ. ระบบ DSL
1. การเตรียมการให้กู้ยืมเงิน (เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของสถานศึกษา)
2. การรายงานสถานภาพการศึกษา
- รายงานโดยสถานศึกษา (เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของสถานศึกษา)
- รายงานโดยผู้กู้ยืมเงิน
3. การยื่นคำขอกู้ยืมเงิน และอนุมัติคำขอกู้ยืมเงิน
- นักเรียน / นักศึกษา ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
- ลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ DSL ผ่านทางแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือผ่านเว็บไซต์ https://wsa.dsl.studentloan.or.th
- ยื่นคำขอกู้ยืมในระบบ DSL พร้อมแนบไฟล์เอกสารประกอบให้มหาวิทยาลัยฯ ตรวจสอบ และรอการพิจารณาอนุมัติจากกองทุน
- สถานศึกษาตรวจสอบคำขอกู้ยืมเงิน
- ระบบหรือกองทุนอนุมัติคำขอกู้ยืมเงิน
4. การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน
- ผู้กู้ยืมเงินบันทึกข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนลงนามสัญญากู้ยืมเงิน
- การจัดทำสัญญากู้ยืมเงิน
5. การเบิกเงินกู้ยืมรายภาคเรียน
- สถานศึกษาบันทึกค่าเล่าเรียนฯ ตามที่ลงทะเบียนจริง
- ผู้กู้ยืมเงินยืนยันการเบิกเงินกู้ยืม
6. การลงนามกับตัวแทน (สถานศึกษา)
- การลงนามสัญญาและแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมแบบกระดาษ สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ ผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับ/ย้ายสถานศึกษา/เปลี่ยนหลักสูตร หรือสาขาวิชา
- การลงนามแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมแบบกระดาษ สำหรับผู้กู้ยืมรายเก่าเลื่อนชั้นปี
7. การคืนเงินโดยผู้กู้ยืมเงิน
- กรณียกเลิกสัญญากู้ยืมเงิน
- กรณียกเลิกแบบยืนยันการเบิกเงินกู้ยืมรายภาคเรียน (แล้วแต่กรณี)
ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน กศย. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.studentloan.or.th
รายละเอียดทั้งหมดที่พี่ได้กล่าวไปข้างต้น คงจะเป็นประโยชน์ให้แก่น้อง ๆ ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการขอกู้ยืมเงิน กยศ. ได้ไม่มากก็น้อยนะคะ และไว้โอกาสหน้าพี่จะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก น้อง ๆ ก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวบรวมทุก Lifestyle ของชาวเด็กหอ