ในวันนี้ทีมงาน Renthub ก็ได้รวบรวมและสรุปข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการสอบ ก.พ. 67 มาไว้ในบทความนี้เรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกาศแจ้งแผนการดำเนินการสอบ ก.พ. 67 ภาค ก. (Paper & Pencil) พร้อมรายชื่อศูนย์สอบและจำนวนที่นั่งสอบ โดยมีแผนการดำเนินการสอบทุกระดับวุฒิ ดังนี้
กำหนดการ สอบก.พ 67
- วันที่ 19 มี.ค. - 9 เม.ย. 67 : กรอกข้อมูลและยืนยันการสมัครสอบ อัปโหลดรูปถ่าย และพิมพ์แบบฟอร์มชำระเงิน (ชำระค่าธรรมเนียมสอบ ภายในเวลา 22.00 น. ของวันถัดจากวันที่ยืนยันการสมัคร)
- วันที่ 12 - 22 เม.ย. 67 : เปลี่ยนรูปถ่าย เฉพาะผู้ที่อัปโหลดรูปผิดพลาด อนุญาตเพียง 1 ครั้ง
- วันที่ 9 พ.ค. 67 : ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ
- วันที่ 2 ส.ค. 67 : ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ ระเบียบเกี่ยวกับการสอบ และพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ
- วันที่ 25 ส.ค. 67 : สอบข้อเขียน
- วันที่ 7 พ.ย. 67 : ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน การวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
- วันที่ 14 พ.ย. 67 : ดูผลคะแนนสอบ
- วันที่ 21 พ.ย. 67 : พิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน
หมายเหตุ : กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
รายชื่อศูนย์สอบและจำนวนที่นั่งสอบ ก.พ 2567
- 01 กรุงเทพฯ และนนทบุรี : 78,000 ที่นั่ง
- 02 พระนครศรีอยุธยา : 25,000 ที่นั่ง
- 03 ราชบุรี : 24,000 ที่นั่ง
- 04 ชลบุรี : 28,000 ที่นั่ง
- 05 เชียงใหม่ : 32,000 ที่นั่ง
- 06 พิษณุโลก : 31,000 ที่นั่ง
- 07 นครราชสีมา : 26,000 ที่นั่ง
- 08 อุดรธานี : 20,000 ที่นั่ง
- 09 อุบลราชธานี : 27,000 ที่นั่ง
- 10 ขอนแก่น : 30,000 ที่นั่ง
- 11 สุราษฎร์ธานี : 26,000 ที่นั่ง
- 12 สงขลา : 33,000 ที่นั่ง
หมายเหตุ : ชื่อศูนย์สอบและจำนวนที่นั่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
สอบ ก.พ. คืออะไร ?
การสอบ ก.พ. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ที่สนใจอยากจะทำงานในหน่วยงานราชการ หรือหากจะให้สรุปแบบง่าย ๆ ก็คือ การสอบ ก.พ. เหมือนตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการทำงานราชการกับหน่วยงานราชการที่กำลังขาดแคลนบุคลากร โดยจะมีวิธีการสอบทั้งแบบกระดาษและปากกา (Paper & Pencil) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Exam) ซึ่งการสอบ ก.พ.จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้
สอบภาค ก. (วัดความรู้ความสามารถทั่วไป)
การสอบภาค ก. เป็นการสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไปที่มีการจัดสอบเป็นประจำในทุกปี นับเป็นด่านแรกที่ต้องสอบให้ผ่านจึงจะไปสอบขั้นต่อไปได้ ภาค ก. จะแบ่งออกเป็น 3 วิชา ได้แก่
1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์
มีเนื้อหาคลอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่
- การคิดวิเคราะห์เชิงภาษา
- การคิดวิเคราะห์เชิงนามธรรม
- การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ
ข้อสอบจำนวน 50 ข้อ 100 คะแนน
2. วิชาภาษาอังกฤษ
เป็นการวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษ โดยจะแยกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่
- หลักไวยากรณ์ (Grammar)
- บทสนทนา (Conversation)
- คำศัพท์ (Vocabulary)
- การอ่านจับใจความ (Reading)
ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน
3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี
เป็นการทดสอบความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี ข้อสอบจำนวน 25 ข้อ 50 คะแนน
โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
- ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
- หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
- วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
- หน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตลอดจนเจตคติและจริยธรรมสำหรับข้าราชการ
สอบภาค ข. (วัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง)
การสมัครสอบก.พ. ภาค ข. ผู้สมัครสอบจะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านภาค ก. มายืนยันก่อน ถึงจะสามารถสมัครสอบในภาค ข. ได้ โดยการสอบ ก.พ. ภาค ข เป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้และความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ผู้จัดสอบ ก.พ. ในภาคนี้จะเป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัคร
สอบภาค ค. (วัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง)
เมื่อผู้เข้าสอบได้สอบผ่านทั้งภาค ก. และภาค ข. แล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกข้าราชการคือ...การสอบสัมภาษณ์ โดยจะมีผู้สัมภาษณ์ของหน่วยงานต้นสังกัดนั้น ๆ มาร่วมทำการทดสอบ นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น ทดสอบร่างกาย หรือทดสอบจิตวิทยา
คุณสมบัติผู้ที่สมัครสอบ ก.พ. 2567
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนดอายุสูงสุด)
- มีสัญชาติไทย
- ต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว หรือผู้ที่กำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายของระดับ ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท
- ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม (ตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)
ช่องทางการสมัครสอบ ก.พ.2567
- สมัครสอบ ก.พ.2567 ผ่านเว็บไซต์ (คลิก)
- สมัครสอบผ่านเว็บไซต์ได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
ขั้นตอนการสมัครสอบ ก.พ.2567
- เข้าไปที่เว็บไซต์ (คลิก)
- เลือกเมนู "สมัครสอบ" (กรอกข้อมูลส่วนบุคคลและเลือกศูนย์สอบ)
- อัปโหลดรูปถ่ายของตนเอง (รูปถ่ายหน้าตรง,พื้นหลังไม่มีลวดลาย,ประเภทไฟล์ JPG., ความละเอียดไม่น้อยกว่า 40 KB)
- ชำระค่าธรรมเนียมสอบ (ผ่านแอปฯกรุงไทยเน็กซ์ หรือ เป๋าตัง หรือธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ เครื่องเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย)
- ตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ (หลังจากชำระเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบแล้วภายใน 1 วันทำการ)
- พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ (เพื่อนำไปแสดงตนเพื่อใช้ในการเข้าห้องสอบ ร่วมกับบัตรแสดงตนที่สำนักงานก.พ.กำหนดในวันเข้าสอบ)
เงื่อนไขการสมัครสอบ ก.พ.
- สำนักงาน ก.พ. ไม่จำกัดสิทธิ ผู้ที่เคยสมัครสอบ เพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปในรูปแบบอื่น ๆ ประจำปี 2567
- ผู้สมัครสอบ สามารถเลือกสมัครสอบได้เพียง 1 ระดับวุฒิการศึกษา และเลือกศูนย์สอบได้เพียง 1 ศูนย์สอบ เมื่อเลือกและยืนยันแล้ว จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลการสมัครสอบไม่ได้
- กรณีที่นั่งสอบมีผู้สมัครสอบครบตามจำนวนแล้ว ผู้สมัครสอบจะต้องเลือกศูนย์สอบอื่น ที่ยังมีที่นั่งสอบเหลืออยู่ ทั้งนี้ การสมัครสอบจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เมื่อผู้สมัครสอบได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบเรียบร้อยแล้ว
- ผู้สมัครสอบที่สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ.ในระดับวุฒิการศึกษาใดแล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบในระดับวุฒิการศึกษาเดียวกัน หรือต่ำกว่าได้
- การกำหนดวัน เวลา และสถานที่สอบ เป็นไปตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด
- การสมัครสอบตามขั้นตอนข้างต้น ถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ลงลายมือชื่อ และรับรองความถูกต้องของข้อมูลแล้ว ดังนั้น หากผู้สมัครสอบจงใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีความผิดทางอาญา ฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน
- ผู้สมัครสอบต้องรับผิดชอบในการรับรองตนเองว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือเป็นผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาตามประกาศรับสมัครสอบ และต้องกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตรงตามความเป็นจริง ในกรณีที่มีความผิดพลาดอันเกิดจากผู้สมัครสอบ สำนักงาน ก.พ. จะถือว่าผู้สมัครสอบเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบมาตั้งแต่ต้น
- การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2567 สามารถรองรับผู้สมัครสอบที่มีความพิการทางการเห็น ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย หรือทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ตามประกาศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ
ทั้งนี้คุณสามารถติดตามและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการสอบ ก.พ. ประจำปี 2567 ทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ได้โดยตรง คลิก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : gurupoliceacademy