หากกล่าวถึงการเปลี่ยนนามสกุลในยุคปัจจุบันนี้คงจะเป็นเรื่องง่าย ๆ หากเปรียบเทียบกับในอดีต แต่ความยุ่งยากของการเปลี่ยนนามสกุลจะอยู่ที่การดำเนินเรื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงเอกสารสำคัญต่าง ๆ ในภายหลังเสียมากกว่า ซึ่งในวันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนนามสกุลไม่ว่าจะเป็น เอกสารที่จำเป็น หลักเกณฑ์ ขั้นตอนการยื่นเรื่อง และรวมไปถึงเอกสารที่คุณจะต้องแจ้งเปลี่ยนนามสกุล ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณได้เตรียมความพร้อมและจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนในวันที่จะเดินทางไปเปลี่ยนนามสกุล
หลักเกณฑ์ในการขอจดทะเบียนนามสกุล/เปลี่ยนนามสกุล
- ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี
- ต้องไม่พ้องหรือมุ่งให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของบุพการี หรือผู้สืบสันดาน
- ต้องไม่ซ้ำกับชื่อสกุลพระราชทานของพระมหากษัตริย์ หรือชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว
- ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย
- มีพยัญชนะไม่เกิน 10 พยัญชนะ เว้นแต่กรณีเป็นราชทินนาม
- ผู้ที่ไม่ได้รับพระราชทานชื่อสกุล ห้ามใช้คำว่า " ณ " นำหน้าชื่อสกุล
- ห้ามเอานามพระมหานคร และศัพท์ที่ใช้เป็นพระปรมาภิไธยมาใช้เป็นชื่อสกุล
เปลี่ยนนามสกุลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบเปลี่ยนชื่อตัว (ถ้ามี)
ขั้นตอนการขอเปลี่ยนนามสกุลใหม่
- ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบ ช.1 ต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
- นายทะเบียนท้องที่ตรวจสอบคำขอและชื่อสกุลที่ขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
- นายทะเบียนท้องที่ส่งเรื่องราวการขอจดทะเบียนชื่อสกุลไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง
- นายทะเบียนกลางพิจารณาแล้วแจ้งผลกลับไปจังหวัด เพื่อแจ้งนายทะเบียนท้องที่แจ้งให้ผู้ขอทราบ
- กรณีที่นายทะเบียนกลางอนุมัติ นายทะเบียนท้องที่จะออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนชื่อสกุล (แบบ ช.2) ให้เป็นหลักฐานและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
- เมื่อได้รับหนังสือสำคัญแล้ว ให้ผู้ขอนำหนังสือสำคัญดังกล่าวไปขอแก้ไขรายการในทะเบียนบ้าน และหลักฐานอื่น ๆ ให้ถูกต้อง และขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน
เอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่ต้องแจ้งเปลี่ยนนามสกุล
อีกหนึ่งข้อสำคัญที่คุณห้ามลืมทำหลังจากเปลี่ยนนามสกุลเลยก็คือ การแจ้งเปลี่ยนนามสกุลในเอกสารสำคัญต่าง ๆ โดยเอกสารสำคัญที่ว่านี้ประกอบไปด้วย...
โฉนดที่ดิน
หากคุณเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน คุณจำเป็นที่จะต้องไปดำเนินเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลในโฉนดที่ดินให้เรียบร้อย โดยเอกสารที่จะต้องเตรียมไปเลยก็คือ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน และใบเปลี่ยนชื่อพร้อมสำเนา จากนั้นให้เดินทางไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อแจ้งเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลกับเจ้าหน้าที่
ใบขับขี่
สำหรับการแจ้งเปลี่ยนนามสกุล คุณไม่จำเป็นที่จะต้องไปสอบใบขับขี่ใหม่ เพียงแค่เตรียมใบขับขี่ตัวจริง บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านและใบเปลี่ยนชื่อ พร้อมสำเนา ไปที่กรมขนส่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะออกใบขับขี่ให้ใหม่และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กรมขนส่งกำหนด
เล่มทะเบียนรถ (เจ้าของรถ)
สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถ ให้คุณยื่นคำร้องเปลี่ยนนามสกุลที่กรมขนส่ง(จังหวัดที่รถจดทะเบียน) โดยให้เตรียมคู่มือจดทะเบียนรถ (สมุดเล่มน้ำเงิน ที่รถทุกคันจะต้องมี) บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน และใบเปลี่ยนชื่อ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ได้เลย
บัญชีธนาคาร
หลังจากที่คุณเปลี่ยนนามสกุลแล้วให้คุณเดินทางไปยังธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ขอเปลี่ยนนามสกุล โดยเอกสารที่ต้องเตรียมคือ บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ และสมุดบัญชีธนาคารนั้น ๆ
บัตรเครดิต
สำหรับการแจ้งเปลี่ยนนามสกุลในบัตรเครดิต ขั้นตอนง่าย ๆ เลยก็คือ ให้คุณติดต่อที่ธนาคารเจ้าของบัตรหรือ Call center เพื่อแจ้งเรื่อง โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่จะขอบัตรประจำตัวประชาชนและใบเปลี่ยนชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐาน จากนั้นทางธนาคารจะออกบัตรเครดิตใบใหม่ให้(เลขเดิม) แต่หน้าบัตรเป็นชื่อและนามสกุลใหม่ ทั้งนี้ทางธนาคารส่สวนใหญ่จะส่งบัตรใหม่ให้ภายใน 1 อาทิตย์ ทางไปรษณีย์ รวมไปถึงอาจจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมร่วมด้วย
พาสปอร์ต
อีกหนึ่งเอกสารสำคัญที่คุณจะต้องแจ้งเปลี่ยนนามสกุลเลยก็คือพาสปอร์ต โดยให้คุณเดินทางไปยังสำนักงานหนังสือเดินทางทั่วประเทศ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการกงสุล โดยเอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมประกอบด้วยบัตรประชาชน ใบเปลี่ยนนามสกุล และพาสปอร์ตเล่มเก่า
: รวมสถานที่ทำ Passport ในไทย อัปเดตปี 2567
กรมธรรม์ประกัน
หากคุณได้ทำประกันเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ ที่มีชื่อเป็นผู้เอาประกันหรือเป็นเจ้าของกรมธรรม์ คุณจำเป็นที่จะต้องแจ้งเปลี่ยนนามสกุลให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาในตอนที่คุณจะเรียกรับผลประโยชน์ต่าง ๆ
ประกันสังคม
หากคุณเป็นผู้ประกันตน คุณก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งเปลี่ยนนามสกุลกับทางประกันสังคม เพื่อรักษาสิทธิ์และป้องกันการผิดพลาดตอนขอรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยการแจ้งเปลี่ยนนามสกุลคุณอาจจะให้ฝ่าย HR ของทางบริษัทแจ้งเรื่องเปลี่ยนให้ หรือคุณสามารถติดต่อดำเนินเรื่องเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่ โดยเอกสารที่จะต้องเตรียมเลยก็คือ สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านและใบเปลี่ยนชื่อ
การเปลี่ยนนามสกุลไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก ถ้าหากคุณจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมและรู้ขั้นตอนการดำเนินเรื่อง แต่ตามที่เราได้กล่าวไปเมื่อตอนต้น ว่าความยุ่งยากจะอยู่ที่การแจ้งเปลี่ยนนามสกุลตามเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันนี้เราจำเป็นจะต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต ใบขับขี่ พาสปอร์ต ฯลฯ และทางทีมงานก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่กำลังจะไปเปลี่ยนนามสกุลได้ไม่มากก็น้อย และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวของชาวหอพัก/อพาร์ทเม้นท์