ใครที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจให้เช่าหรือได้รับมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้เช่าหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ สิ่งแรกที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ก็คือ “ความแตกต่างระหว่างหอพักและอพาร์ทเม้นท์” ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนเข้าใจว่าหอพักกับอพาร์ทเม้นท์นั้นเป็นห้องเช่ารูปแบบเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วในทางกฎหมายห้องเช่าทั้ง 2 รูปแบบนี้มีลักษณะที่ต่างกันพอสมควร นับตั้งแต่เริ่มต้นจดทะเบียนก็แตกต่างกันแล้ว หากอธิบายให้เข้าใจเบื้องต้นต้องบอกว่า หอพักนั้นถูกควบคุมด้วยพรบ.หอพัก แต่สำหรับอพาร์ทเม้นท์ถูกควบคุมด้วยพรบ.ควบคุมอาคาร ซึ่งความแตกต่างของพรบ.ทั้งสองอย่างนี้คืออะไร และหอพักกับอพาร์ทเม้นท์แตกต่างกันอย่างไรลองไปดูกัน
ทำไมหอพักกับอพาร์ทเม้นท์ จึงใช้ พรบ.ควบคุมอาคารคนละอย่างกัน ?
ก่อนที่จะเจาะลึกในเรื่องพรบ.นั้น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจห้องเช่านี้ต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างหอพักกับอพาร์ทเม้นท์กันก่อนว่าอาคารทั้ง 2 ประเภทนี้แตกต่างกันอย่างไร โดยเราได้สรุปใจความสำคัญให้คุณได้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้...
อพาร์ทเม้นท์ คือ ตึกหรืออาคารที่พักอาศัยที่เจ้าของอพาร์ทเม้นท์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งอาคาร ส่วนผู้อาศัยมีสิทธิ์เพียงแค่เช่าพักเท่านั้น โดยผู้เช่าอาศัยต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบที่อพาร์ทเม้นท์กำหนดไว้โดยจะเปิดให้เช่าบริการเป็นรายเดือน
หอพัก คือ สถานที่หรือที่พักอาศัยให้เช่าที่มีนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี และไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรีเข้าพัก มีการแบ่งแยกชายหญิง ส่วนถ้าเป็นหอพักนอก ผู้พักส่วนใหญ่เป็นคนทำงานแล้ว อาจไม่ต้องจดทะเบียนแยกหญิงชายก็ได้
ความแตกต่างของพรบ.หอพัก กับพรบ.ควบคุมอาคาร (อพาร์ทเม้นท์)
พรบ.หอพัก
พรบ.หอพัก มีความแตกต่างจากพรบ.ควบคุมอาคารอยู่มากพอสมควร โดยการจดหรือขึ้นทะเบียนเป็นหอพักนั้นต้องอยู่ในเงื่อนไขและขอบเขตตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ หากกิจการของคุณอยู่ในข่ายที่มีผู้พักอยู่ระหว่างการศึกษาไม่สูงกว่าปริญญาตรีโปรดจงรู้ไว้เลยว่าสถานประกอบกิจการรายได้นั้นเข้าหลักเกณฑ์ที่ต้องไปจดทะเบียนหอพัก ซึ่งการจดทะเบียนหอพักมีดังต่อไปนี้
ผู้พักมีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ และยังไม่ได้สมรส
อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี
พักอาศัยอยู่ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
เข้าอยู่ในหอพักโดยให้ทรัพย์สินตอบแทน เช่น เงินค่าเช่า
ต้องแยกเป็นหอพักชายและหอพักหญิง
หอพักอย่างน้อยต้องมีห้องนอน ห้องต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน ห้องอาหาร ห้องน้ำและห้องส้วม ซึ่งมีสภาพถูกสุขลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ไม่ว่าจะใช้ชื่อเป็นอพาร์ตเมนท์ แมนชั่น ห้องเช่า เกสเฮ้าส์ หรืออื่นๆ ที่เข้าข่ายหอพักต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้อง
เจ้าของหอพักต้องจัดให้มีระเบียบประจำหอพัก เป็นต้น
พรบ.ควบคุมอาคาร (อพาร์ทเม้นท์)
พรบ.ควบคุมอาคาร (อพาร์ทเม้นท์) เป็นสถานที่ประกอบการให้เช่าระยะยาว ตั้งแต่ 30 วันขึ้นไปหรือ 3 เดือน เป็นต้น ไม่มีกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเจาะจง ส่วนใหญ่ข้อกำหนดจะเป็นการควบคุมเกี่ยวกับการก่อสร้างที่อ้างอิงตามประมวลกฎหมายเท่านั้น อาคารที่ใช้พรบ.ควบคุมอาคารในการกำหนดมีตั้งแต่อพาร์ทเม้นท์ แฟลต แมนชั่น คอนโดฯ และด้วยกฎหมายที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงเห็นอพาร์ทเม้นท์ที่ปล่อยเช่ารายวันบ่อยครั้ง แท้จริงแล้วถือว่าผิดกฎหมาย ถ้าหากต้องการรับผู้เช่ารายวัน จะต้องไปขึ้นทะเบียน พรบ.โรงแรม เท่านั้น ซึ่งจะมีข้อกำหนดรูปแบบการควบคุมแตกต่างจากอพาร์ทเม้นท์
ใครที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ คุณก็ควรที่จะศึกษาเรื่องกฎหมายให้เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียน และหากใครที่กำลังมองหาหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ราคาย่อมเยาว์ เพื่ออยู่อาศัยเองก็สามารถค้นหาได้ทั้งทาง Renthub เว็บไซต์ที่รวบรวมหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ไว้มากที่สุดของไทย