ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้การทำธุรกิจ ห้องพักรายวัน หรือ หอพักรายวัน มีความนิยมที่สูงมาก! เนื่องจากรูปแบบความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยมองหาโรงแรมขนาดใหญ่ ก็กลับกลายมาเป็นที่พักเล็กๆ สักหนึ่งหลังหรือสัก หนึ่งห้อง ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้หลายๆ คน เพื่อช่วยประหยัดในเรื่องค่าใช้จ่าย รวมไปถึงใครที่มีบ้านที่ไม่ได้อยู่อาศัยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น บ้านริมทะเล, บ้านพักบนภูเขา ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นโฮมสเตย์ได้ แต่ทั้งนี้เพื่อให้การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องถูกกฎหมาย จึง Renthub เลยอยากจะมาอัพเดตเกี่ยวกับกฎหมายห้องพักรายวันฉบับใหม่ล่าสุดให้คุณได้ฟังกัน!
กฎหมายห้องพักรายวันในประเทศไทย
ปกติแล้วหากใครต้องการทำธุรกิจประเภทห้องพักรายวัน หรือ หอพักรายวัน ต้องมีการจดทะเบียนขออนุญาตสำหรับประกอบธุรกิจโรงแรม แต่อย่างที่รู้ว่าหลายๆ คนไม่ได้ถึงขนาดต้องการสร้างธุรกิจใหญ่โตอะไร แค่อยากเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง บวกกับบ้านหลังดังกล่าวก็ไม่ได้มีใครใช้ทำอะไรอยู่แล้ว ตรงนี้จึงมีกฎหมายยกเว้นให้ตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์กระประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ระบุว่า
หมวด 1 สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม
ข้อ 1 สถานที่พักดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการมีห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารแล้วนำมารวมกันเป็นพื้นที่เดียวสามารถเปิดเป็นห้องพักแบบรายวันได้ไม่เกิน 4 ห้อง และผู้เข้าพักทั้งหมดต้องไม่เกิน 20 คน โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อบริการที่พักแบบชั่วคราวให้กับผู้เดินทางหรือบุคคลอื่น ๆ แบบมีค่าตอบแทน อันเป็นลักษณะของการทำกิจการเพื่อหารายได้เสริม และต้องมีการแจ้งให้ทางนายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดเอาไว้ว่า ไม่เป็นโรงแรม
จากข้อสรุปของตัวกฎหมายที่ระบุเอาไว้นั้นให้ความหมายคือ ภายใน 1 อาคาร เช่น บ้าน 1 หลัง คนที่ต้องการปล่อยหอพักรายวันสามารถทำได้ไม่เกิน 4 ห้อง จำนวนผู้เข้าพักต้องไม่เกิน 20 คน ตรงนี้เองจึงนับเป็นช่องทางดี ๆ ที่กฎหมายได้ช่วยให้คนมีบ้านพัก อาคารพาณิชย์ หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ที่ไม่ได้เข้าอยู่ด้วยตนเอง สามารถเพิ่มรายได้เสริมแบบง่าย ๆ
อย่างไรก็ตามหากเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพักอาศัย ต้องมีการแจ้งข้อมูลบุคคลของชาวต่างชาติคนดังกล่าวกับที่ทำการตรวจคนเข้าเมืองด้วย
การปล่อยเช่าคอนโดให้เป็นหอพักรายวันสามารถทำได้หรือไม่ ?
อย่างที่กล่าวไปว่าตามกฎหมายภายในอาคารดังกล่าวจะต้องมีการเปิดเป็นห้องพักรายวันไม่เกิน 4 ห้อง ดังนั้นใครที่มีคอนโดมิเนียมตามเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น พัทยา, หัวหิน ก็ต้องมีเงื่อนไขโดยสรุปเอาไว้ง่าย ๆ ดังนี้
ต้องมีการสำรวจก่อนว่าภายในคอนโดมิเนียมดังกล่าวมีการปล่อยเช่าหอพักแบบรายวันเกินกว่า 4 ห้องหรือไม่
ต้องมีการตรวจสอบกับทางนิติบุคคลคอนโดแห่งนั้นว่ามีเงื่อนไขในการปล่อยให้เช่ารายวันได้หรือไม่
ปกติแล้วกฎของคอนโดส่วนใหญ่บุคคลภายนอกจะไม่สามารถใช้บริการส่วนกลางได้ หากมีการปล่อยเช่าต้องแจ้งเรื่องนี้ให้กับทางผู้เช่าทราบด้วย
กรณีที่ผู้เข้าพักเป็นชาวต่างชาติต้องมีการแจ้งไปกับกองตรวจคนเข้าเมืองไม่เกิน 24 ชม.
อย่างไรก็ตามหากมองในมุมข้อกฎหมายที่ชัดเจน การใช้คอนโดเพื่อปล่อยเป็นหอพักรายวันอาจไม่ถึงกับถูกต้อง 100% นัก เนื่องจากมีกฎหมายหลายข้อที่ระบุเอาไว้ ดังนี้
พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2478 คอนโดไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อประกอบกิจการโรงแรม (จดทะเบียนเป็นประเภทอาคารชุด) จึงต้องทำตามกฎหมายในเรื่องของการปล่อยเช่ารายวันได้ไม่เกิน 4 ห้อง และผู้เข้าพักไม่เกิน 20 คน
ในกรณีที่มี “ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด” จากนิติบุคคลอาคาร ซึ่งมีการตกลงร่วมกันระหว่างผู้อยู่อาศัยว่าห้ามปล่อยเช่าแบบรายวัน รายสัปดาห์ เจ้าของห้องจะไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้เลย
ในกรณีที่มีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยแล้วไม่มีการแจ้งให้กับทางกองตรวจคนเข้าเมืองทราบภายใน 24 ชม. จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
กฎหมายอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำห้องพักรายวันที่น่าสนใจ
รายละเอียดข้างต้นคือข้อกฎหมายหลัก ที่เราอยากย้ำเตือนให้ผู้ที่สนใจอยากทำห้องพักรายวันหรือห้องพักรายวันทราบ! แต่ทั้งนี้ก็ยังมีกฎหมายในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมที่ขอระบุให้ทราบ ดังนี้…
คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ลงประกาศเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ได้ระบุไว้ว่า อนุญาตให้ผู้ถือครองอาคารเก่าซึ่งเป็นโรงแรมเดิม เช่น รีสอร์ท, บูติกโฮเต็ล, เกสต์เฮาส์, โฮสเทล ซึ่งส่วนใหญ่ในอดีตบรรดาที่พักขนาดเล็กและขนาดกลางเหล่านี้อาจไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำกิจการในพื้นที่ผังเมืองส่วนห้ามทำโรงแรมได้ แต่ต้องดำเนินเรื่องเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตการเปลี่ยนแปลงใช้อาคารช่วงก่อนที่กฎหมายปี 2559 จะหมดลง ซึ่งวันสุดท้ายคือ 18 สิงหาคม 2564
รายละเอียดทั้งหมด คือ เรื่องของกฎหมายห้องพักรายวันและหอพักรายวัน ที่อัพเดตใหม่ล่าสุดที่ Renthub ได้นำมาฝากกัน และสำหรับใครที่เคยมีแนวคิดอยากซื้อคอนโดตามสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในเมืองไทยและต่างจังหวัดเพื่อหวังปล่อยเช่าให้กับนักท่องเที่ยวอาจต้องทบทวนเนื้อหากันใหม่ เนื่องจากยังมีข้อกฎหมายที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน และอาจส่งผลเสียต่อทั้งตัวผู้เช่าและผู้ให้เช่าด้วย ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมานี้ ถือเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนั้นหากต้องการปล่อยเช่าจริงๆ คุณอาจจะต้องศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง!