เมื่อคราวที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างอพาร์ทเม้นท์และหอพักไปแล้ว ซึ่งเป็นการจดทะเบียนคนละรูปแบบกัน เนื่องจากมีการจดทะเบียนเพื่อประกอบธุรกิจ สิ่งสำคัญต่อมาที่เจ้าของธุรกิจจะต้องรู้ก็คือเรื่องการ “เสียภาษี” โดยเฉพาะธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าที่สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการต่อหนึ่งปีไม่ใช่น้อยเลย ดังนั้นหากพลาดการจ่ายภาษีไปอาจเกิดเบี้ยปรับย้อนหลังหรือต้องโทษตามกฎหมายได้
โดยการเสียภาษีของธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่ามีการยื่นแบบและการคำนวณภาษีที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับในบทความนี้เราจะขอแนะนำภาษีธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ที่จดทะเบียนแบบบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นแนวทางการจัดการภาษีที่ถูกต้องและให้ผู้ประกอบการสามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและดำเนินธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา โดยในหัวข้อแรกสิ่งที่ต้องพูดถึงก่อนเลยก็คือภาษีที่ผู้ประกอบการจะต้องชำระนั้นประกอบไปด้วย...
1. อากรแสตมป์
การเข้าสู่ระบบภาษีในส่วนของอากรแสตมป์จะขึ้นกับผู้ประกอบการ หากได้มีการทำข้อตกลงกับผู้เช่าในลักษณะเกิดเป็นตราสาร ผู้ประกอบการก็มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนเงินและวิธีการที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ โดยการชำระค่าอากรแสตมป์จะชำระ 1 บาทต่อทุกจำนวนเงิน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งค่าเช่า หรือเงินกินเปล่าตลอดอายุสัญญาการเช่า ถ้าสัญญาเช่าไม่กำหนดอายุสัญญาเช่าถือเป็นการเช่า 3 ปี โดยไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแต่ให้ติดค่าอากรแสตมป์และขีดฆ่าทุกครั้งที่มีการทำสัญญาเช่า
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องขอมีเลขประจำตัว และต้องนำเงินได้ที่ได้รับทั้งรายได้จากทางอื่นและรายได้จากค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์มาหักกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วคิดออกมาเป็นรายได้สุทธิ หากเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์อัตราที่ต้องเสียภาษีตามโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากำหนดก็นำเงินได้สุทธิมาคำนวณกับอัตราภาษี (%) ก็จะได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระ โดยสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาตามกฎหมายพร้อมกับชำระภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด โดยสามารถยื่นแบบแสดงรายการได้ 2 รูปแบบคือ ภ.ง.ด. 94 โดยนำเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อเสียภาษีครึ่งปี ยื่นแบบระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีภาษีนั้น และยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90 โดยนำ เงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อเสียภาษีสิ้นปี โดยมีกำหนดการยื่นคือระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคมของปีถัดไป
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยปกติรายได้จากค่าเช่าห้องพักถือเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากมีการให้บริการอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การให้บริการเฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคก็อาจต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยปัจจุบันจะชำระในอัตรา 7% ของรายได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการ สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ. 30 ได้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
4. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยหอพัก/อพาร์ทเม้นท์จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.3% โดยจะยึดจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลัก เพราะจุดประสงค์หลักคือการอยู่อาศัยจึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ที่ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันกับการอยู่อาศัยปกตินั่นเอง
ไม่ถึง 25 ล้านบาท : อัตรา 0.03% ล้านละ 300 บาท
25 - 50 ล้านบาท : อัตรา 0.05% ล้านละ 500 บาท
50 ล้านขึ้นไป : อัตรา 0.10 % ล้านละ 1,000 บาท
อัปเดตล่าสุด! อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566
5. ภาษีป้าย
การเข้าสู่ระบบที่จะเสียภาษีป้ายก็ต่อเมื่อผู้ประกอบกิจการมีการจัดทำป้ายแสดงชื่อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าเพื่อหารายได้ โดยจะมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันขึ้นกับตัวอักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศ ตลอดจนเนื้อที่ที่ใช้จัดทำป้าย เช่น ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 10 บาทต่อเนื้อที่ห้าร้อยตารางเซนติเมตร เป็นต้น สามารถยื่นแบบแสดงรายการตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในเดือนมีนาคมของปี
ภาษีถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าพลาดไม่ได้เลย เพราะหากลืมเสียภาษีไปอาจโดนโทษปรับตามกฎหมายทำให้เสียผลประโยชน์ได้ ดังนั้นใครที่คิดจะทำธุรกิจนี้ควรศึกษาเรื่องภาษีไว้ ตลอดจนดูต้นแบบและตัวอย่างการทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ของจริงได้ที่ Renthub เว็บไซต์ที่รวบรวมหอพักกว่า 16,000 แห่งทั่วประเทศ!