สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า “ภาระจำยอม” คืออะไร ? ในบทความนี้เราก็จะพาคุณไปทำความรู้จักกับเจ้าคำๆ นี้ ในแบบฉบับที่เข้าใจง่ายเหมือนเช่นเคย! และถ้าพร้อมแล้วเราไปพบกับความหมายของคำว่าภาระจำยอมพร้อมๆ กันเลย
ภาระจำยอมคืออะไร ?
ภาระจำยอม คือ ภาระที่เจ้าของที่ดินผืนหนึ่ง จะต้อมยอมรับให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเอง โดยคำศัพท์ทางกฎหมายได้นิยามเอาไว้ว่า…
ภารยทรัพย์(พา-ระ-ยะ-ทรัพย์) = ที่ดินที่ต้องยอมรับกรรม
สามยทรัพย์(สา-มะ-ยะ-ทรัพย์) = ที่ดินที่ได้รับผลประโยชน์ในการได้ใช้สิทธิ์จากที่ดินภารยทรัพย์
“มาตรา 1387 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : เจ้าของที่ดินแปลงภาระทรัพย์จะต้องยอมรับภาระบางอย่าง ซึ่งกระทบกระเทือนถึงการใช้สิทธิในที่ดินของตัวเอง หรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างที่มีอยู่ในที่ดินตัวเองเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงอื่น”
ตัวอย่างของภาระจำยอม
เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ ยอมให้มีชายคาของผู้อื่นลุกล้ำเข้ามาในบริเวณที่ดินของตน
เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ ยอมให้ผู้อื่นเดินทางผ่านที่ดินของตนเอง
เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ ยอมที่จะไม่ปลูกสร้างบ้าน เพราะจะไปบดบังแสงแดด ทางลม ของที่ดินใกล้เคียง เป็นต้น
จุดสำคัญของภาระจำยอม
จุดสำคัญของภาระจำยอม คือ เป็นที่ดินที่ไม่จำเป็นจะต้องถูกห้อมล้อมหรือยู่ติดกันกับที่ดินของบุคคลอื่นๆ อีกทั้งยังไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทางออกสู่พื้นที่สาธารณะ แต่สามารถใช้ออกไปพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งก็ได้ และ “การจดภาระจำยอม” นั้น จะต้องเป็นการที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ทำการตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งทำเป็นหนังสือเพื่อไปแจ้งจดต่อเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน
ภาระจำยอม สามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง ?
สำหรับใครที่ต้องการ “ทำภาระจำยอม” คุณก็สามารถดำเนินเรื่องได้ 2 วิธี ซึ่งประกอบไปด้วย
1.การได้ภาระจำยอมมาโดยนิติกรรม
การตกลงเจรจากับทางเจ้าของที่ดินที่ต้องยอมรับกรรม(ภารยทรัพย์) เพื่อทำข้อตกลงภาระจำยอม
2.การได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ
ใช้ที่ดินอื่นเป็นทางจำยอมต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 10 ปี โดยเปิดเผย
ทั้งนี้การเข้าไปตกลงเจรจากับทางเจ้าของที่ดินที่ต้องรับกรรม(ภารยทรัพย์) นั้น อาจจะมีค่าทดแทนหรือไม่มีเงินค่าทดแทนก็ได้ เพราะไม่ได้มีกฎหมายกำหนด
ตามข้อมูลที่เราได้กล่าวไปนั้น เป็นเพียงแค่รายละเอียดบางส่วนของ “ภาระจำยอม” เพราะจริงๆ แล้ว หากเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ ไม่ยินยอม! ก็อาจจะต้องมีการยื่นเรื่องจาก “ภาระจำยอม" เปลี่ยนเป็น "ทางจำเป็น” โดยการใช้สิทธิฟ้องต่อศาลเพื่อให้เปิดทางพิพาทเป็น "ทางจำเป็น" แทน ซึ่งในโอกาสหน้าทีมงาน Renthub จะมาสรุปคำว่า “ทางจำเป็น” ให้คุณได้เข้าใจง่ายๆ เหมือนเช่นเคย และคุณก็สามารถติดตามบทความดีๆ ต่อได้ที่ Renthub Blog