ในช่วงที่ผ่านมาหลายๆ คน คงจะเคยได้ยินข่าวว่ามีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจากเจ้าของกิจการและผู้ประกอบการกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งยอดของการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้นก็ขอบอกได้เลยว่า “จุก” จนทำให้หลายๆ คน เกิดความรู้สึกหวั่นใจกับประเด็นที่เกิดขึ้นว่าเราจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังไหม ? แล้วรายละเอียดเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมีอะไรบ้างที่ควรจะต้องรู้ ? เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจึงจะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ “การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง” กัน
การเก็บภาษีย้อนหลังคืออะไร ?
การเก็บภาษีย้อนหลัง(Retroactive tax) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งการตรวจสอบภาษีย้อนหลังจะถูกดำเนินงานโดย 3 หน่วยงาน ประกอบไปด้วย
กรมสรรพากร
กรมศุลกากร
กรมสรรพสามิต
โดยเฉพาะกรมสรรพากรซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษีมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษี VAT
สาเหตุสำคัญที่ทำให้โดยเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
ไม่ยอมจ่ายภาษีประจำปี
จ่ายภาษีไม่ถูกต้อง อาทิเช่น การจ่ายภาษีไม่ครบ การระบุรายได้ไม่ถูกต้อง หรือมีความผิดปกติในการจ่ายภาษีจนทำให้กรมสรรพากรเกิดความสงสัย
วิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร
ออกตรวจเยี่ยม : เจ้าหน้าที่จะออกตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ
การตรวจนับสต็อกสินค้า : ใช้กับผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออก เพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการเสียภาษีครบถ้วนหรือไม่
การสอบยันใบกำกับภาษี : การทำใบกำกับภาษีปลอมเป็นอีกหนึ่งวิธีหลีกเลี่ยงภาษียอดนิยม ดังนั้นกรมสรรพากรจะใช้วิธีการตรวจสอบภาษีด้วยการสอบยันใบกำกับภาษี เพื่อดูว่ามีการปลอมขึ้นมาบ้างหรือไม่ ? จากนั้นจึงคิดคำนวณภาษีที่ถูกหลีกเลี่ยงไปพร้อมกับเรียกเก็บย้อนหลัง
การตรวจคืนภาษี : วิธีนี้จะใช้ตรวจภาษีกับบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นวิธีที่ทางกรมสรรพากรจะใช้บ่อยมาก
การตรวจค้น : “วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมากและชัดเจน” โดยจะเข้าทำการตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งยึดและอายัดบัญชีรวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีไว้ด้วย
การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี : กรมสรรพากรจะทำการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องส่งมอบบัญชีและเอกสารต่างๆ ให้พนักงานทำการตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีก็จะดำเนินการเรียกคืนภาษีย้อนหลังในลำดับต่อไป
การตรวจสอบภาษีย้อนหลังมีอายุความเท่าไหร่?
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล : มีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี แต่ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลนั้นจงใจหรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริง จะสามารถขยายเวลาขออายุความไปได้ถึง 5 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกรมสรรพกรเป็นหลัก (นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเลยและถูกตรวจพบภายหลัง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเช่นกัน โดยจะยึดเอาตามระยะเวลาอายุความทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 10 ปี)
ภาษีธุรกิจ : สามารถเรียกเก็บย้อนหลังได้มากถึง 10 ปี ตาม มาตรา 193/31 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกแต่อย่างใด ซึ่งอายุความเรียกเอาหนี้ภาษีอากรคืนจะนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการยื่นแบบภาษี
ไม่อยากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทำอย่างไรได้บ้าง ?
ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารเกี่ยวกับรายรับให้เรียบร้อยก่อนยื่นภาษี
ตรวจสอบดูว่ารายรับของเราอยู่ในเงินได้ประเภทไหนกันแน่ (เนื่องจากมันมีผลกับการหักค่าใช้จ่าย)
ตรวจสอบรายการลดหย่อนที่มีสิทธิใช้ (เนื่องจากมีผลกับยอดคงเหลือเงินได้สุทธิ)
ตรวจสอบรายการลดหย่อนที่มีสิทธิใช้ (เนื่องจากมีผลกับยอดคงเหลือเงินได้สุทธิ)
หาผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบความถูกต้องในการคำนวณภาษีอีกครั้ง
ถ้าโดนต้องสงสัยว่าต้องจ่ายภาษีย้อนหลัง ควรทำอย่างไร ?
ตรวจสอบรายการภาษีย้อนหลัง โดยเฉพาะรายได้ของแต่ละปีว่ามีรายได้ทั้งหมดเท่าไหร่ เงินที่เข้าบัญชีที่เป็นส่วนของรายได้เท่าไหร่ เพื่อไปแสดงกับกรมสรรพากร
กรณีที่ มียอดเงินเข้าเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจด VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน รวมถึงเสียภาษีเงินได้ 2 รอบ คือ ครึ่งปีและปลายปี
รายละเอียดที่เราได้กล่าวไปข้างต้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังทั้งสิ้น ซึ่งทางที่ดีการยื่นภาษีอย่างถูกต้องทุกปี จะช่วยให้คุณไม่ต้องมาวิตกกังวลใจกับประเด็นนี้ เพราะเป็นอย่างที่เรารู้ๆ กันดี ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังขึ้นมา คุณจะต้องพบกับค่าปรับอันแสนโหดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยล่ะ!
ขอบคุณข้อมูลจาก : TAXBugnoms, Aommoney