Home Icon

สรุปขั้นตอน "การประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี" ต้องทำอย่างไร ?

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
31 August 2023
สรุปขั้นตอน "การประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี" ต้องทำอย่างไร ?

บ่อยครั้งที่นักลงทุนมือเก๋าหลายๆ คน มักจะไปช้อนซื้ออสังหาฯ จากการประมูลทรัพย์ที่กรมบังคับคดี เพราะอสังหาฯ มักจะมีราคาที่ค่อนข้างถูกและนำไปสู่การสร้างผลกำไรได้ในอนาคตหากปล่อยเช่าหรือขายต่อ และสำหรับใครที่พึ่งเข้าวงการอสังหาริมทรัพย์หรือผู้คนทั่วไปที่ต้องการประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ? และมีขั้นตอนการประมูลอย่างไรบ้างนั้น วันนี้ทางทีมงาน Renthub ก็ขอนำขั้นตอน "การประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี" ในแบบฉบับที่เข้าใจได้ง่ายๆ มาฝาก ซึ่งต้องขอแอบกระซิบเลยว่าหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ก็เป็นอีกหนึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่มีการประมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าพร้อมแล้วเราไปพบกับข้อมูลที่ทางทีมงานได้ทำสรุปมาให้พร้อมๆ กันเลย

ทรัพย์สินขายทอดตลาดจากรมบังคับคดี คืออะไร ?

อันดับแรกเราต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่า “ทรัพย์สินขายทอดตลาดจากรมบังคับคดี” คืออะไร ? ซึ่งทรัพย์สินขาดทอดตลาดจากกรมบังคับคดี ก็คือ... การนำทรัพย์สินไปจำนองกับเจ้าหนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการกู้ยืม และลูกหนี้ไม่สามารถคืนเงินได้ตามกำหนดจึงทำให้เกิดการฟ้องร้อง โดยทรัพย์สินของลูกหนี้ก็จะต้องถูกขายเพื่อนำเงินไปชดใช้หนี้ และกรมบังคับคดีจะมีหน้าที่นำสินทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน คอนโด ฯลฯ ออกมาประมูลขายตามคำตัดสินของศาลหรือที่เรียกว่าหมายเลขคดีแดง โดยทรัพย์สินที่กรมบังคับคดีนำออกมาขายทอดตลาดนั้น มีจุดประสงค์หลักๆ ก็คือนำเงินที่ได้รับจากการประมูลมาจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ และราคาเปิดประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดนั้นกรมบังคับคดีมักจะตีต่ำกว่าราคาตามท้องตลาด ส่งผลให้นักลงทุนเกี่ยวกับอสังหาฯ หรือผู้คนทั่วไปมีความต้องการที่จะเข้าไปประมูลทรัพย์สินต่างๆ นั่นเอง

กฎระเบียบและข้อบังคับที่ควรรู้ก่อนไปประมูลทรัพย์สินจากกรมบังคับคดี

  1. หากผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถประมูลซื้อทรัพย์สินได้แล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดชื่อผู้ซื้อได้ ดังนั้นควรจะตรวจสอบรายชื่อผู้ประมูล พร้อมสำรวจตัวเองว่าหากซื้อได้แล้วจะสามารถชำระเงินตามกำหนดได้หรือไม่
  2. หากต้องการให้ผู้อื่นเข้าร่วมการประมูลแทน จะต้องยื่นหนังสือมอบอำนาจก่อนเข้าร่วมการประมูล หากไม่มีหนังสือมอบอำนาจ จะถือว่าผู้นั้นเข้าร่วมประมูลในนามของตนเอง
  3. การประมูลราคาใช้วิธีให้ราคาด้วยปากเปล่า
  4. หากเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเห็นว่าการประมูลมีราคาต่ำเกินไป เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสามารถเพิกถอนทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้
  5. การประมูลราคาจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีขานราคาประมูล แล้วนับ 1 ถึง 3 แล้วเคาะไม้
  6. เมื่อการประมูลเริ่มขึ้นแล้ว คณะกรรมการกรมบังคับคดีจะเป็นผู้กำหนดราคาเริ่มต้น ซึ่งการประมูลจะกำหนดไว้ที่ 4 ครั้ง หากการประมูลแต่ละครั้งไม่มีผู้ซื้อ ครั้งถัดไปจะลดราคาเริ่มต้นทีละ 10% ดังนี้
    - ครั้งที่ 2 ลดราคาเหลือ 90%
    - ครั้งที่ 3 ลดราคาเหลือ 80%
    - ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป ลดราคาเหลือ 70%
  7. หากผู้ประมูลสามารถประมูลซื้อทรัพย์ได้ แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ครบถ้วน กรมบังคับคดีจะนำทรัพย์นั้นมาขายทอดตลาดใหม่ ถ้าการประมูลครั้งใหม่ได้ราคาต่ำกว่าการประมูลครั้งก่อน ผู้ซื้อเดิมจะต้องชำระเงินส่วนต่างของราคานั้น
  8. วันที่และช่วงเวลาในการเปิดประมูลถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะไม่ได้มีการเปิดให้ประมูลตลอด ดังนั้นผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมการประมูล จึงควรจำวันและเวลาให้ดี

เตรียมหลักฐานในการประมูลทรัพย์สินจากกรมบังคับคดี

  • บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวข้าราชการ/บัตรพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับสำเนาและเขียนรับรองถูกต้องแล้ว 1 ฉบับ
  • กรณีที่ผู้ซื้อเป็นนิติบุคคล จะต้องมีเอกสารรับรองนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 1 เดือน
  • หากต้องการให้ผู้อื่นเข้าประมูลแทน จะต้องมีเอกสารดังนี้
    ⁠- กรณีบุคคลทั่วไป จะต้องมีใบมอบอำนาจ ปิดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับอำนาจเขียนรับรองสำเนาถูกต้อง
    ⁠- กรณีนิติบุคคล จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ หนังสือรับรองนิติบุคคล สำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจในนิติบุคคล และสำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับมอบอำนาจเขียนรับรองสำเนาถูกต้อง
  • เงินสดหรือแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายสำนักงานกรมบังคับคดี เพื่อเป็นหลักประกันในการประมูล จำนวนเงินที่ต้องนำมาเป็นหลักประกัน สามารถแบ่งได้ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
    - ⁠ราคาประเมินไม่เกิน 500,000 บาท วางหลักประกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของราคาประเมิน
    - ราคาประเมิน 500,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 50,000 บาท
    - ราคาประเมิน 1,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 250,000 บาท
    - ราคาประเมิน 5,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 500,000 บาท
    - ราคาประเมิน 10,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 1,000,000 บาท
    - ราคาประเมิน 20,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 2,500,000 บาท
    - ราคาประเมิน 50,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 5,000,000 บาท
    - ราคาประเมิน 100,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกัน 10,000,000 บาท
    - ราคาประเมิน 200,000,000 บาทขึ้นไป วางหลักประกันตามที่ผู้ได้รับมอบหมายกำหนด

*** ยกเว้นผู้เข้าประมูลเป็นผู้มีสิทธิ์ขอหักส่วนได้ใช้แทน เช่น เจ้าหนี้ตามคำสั่งศาล ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา คู่สมรสของลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ที่ไม่ต้องวางหลักประกัน แต่หากทำการซื้อได้แล้วจะต้องวางเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คจำนวน 5% ของราคาเริ่มต้นในวันนั้น ***

สรุป 5 ขั้นตอนการซื้อทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

  1. ค้นหาทรัพย์สินที่ต้องการประมูล - เช่น บ้าน คอนโด อสังหาฯในรูปแบบต่างๆ โดยสามารถเข้าไปหาได้ในเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี (คลิก) หรือแอพพลิเคชั่น LED Property Plus ซึ่งจะสามารถเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล และประเภทของทรัพย์สินได้เลยทันที เมื่อเจอทรัพย์สินที่ถูกใจก็ควรที่จะต้องไปตรวจสอบสภาพทรัพย์สินด้วยตัวเอง (เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินมือ 2 ที่อาจจะมีการทรุดโทรมไปตามเวลาหรือมีรูปภาพไม่ตรงปก) นอกจากนี้แล้วทางเว็บไซต์จะมีการบอกราคาประเมินของทรัพย์นั้นๆ ให้ทราบ รวมไปถึงแผนที่/วัน/เวลาในการประมูลและเงื่อนไขต่างๆ ที่ผู้สนใจจำเป็นจะต้องทราบ ทั้งจำนวนวงเงินหลักประกันและราคาเริ่มต้นในการประมูล
  2. ลงทะเบียน – ในวันที่จะทำการประมูลทรัพย์สินนั้น ผู้ประมูลจะต้องลงทะเบียนกับทางเจ้าหน้าที่ พร้อมวางเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คเป็นหลักประกันและทำสัญญาในการเสนอราคา จึงรับป้ายประมูลและเข้าไปนั่งในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้
  3. จ้าพนักงานกำหนดราคาเริ่มต้น – ก่อนเริ่มการประมูล จะมีเจ้าหน้าที่มาอธิบายเงื่อนไขในการประมูลให้ทราบ และกำหนดราคาเริ่มต้นของทรัพย์ที่จะเปิดประมูล
  4. ผู้ประมูลยกป้ายเสนอราคา – เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดประมูลจะมีการกำหนดว่าจะเพิ่มราคาได้ครั้งละเท่าไหร่ และผู้ที่สนใจประมูลทรัพย์สินนั้นๆ ก็สามารถยกป้ายเพื่อขอเสนอราคาตามราคาเริ่มต้นหรือจะยกป้ายสู้ราคากับผู้ประมูลท่านอื่นๆ ได้
  5. เจ้าหน้าที่เคาะไม้ให้ผู้ชนะประมูล - เมื่อทรัพย์สินถูกประมูลจนได้ราคาสูงสุด เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีก็จะถามหาผู้คัดค้านจากฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (ตัวแทนโจทก์หรือจำเลย) หากไม่มีผู้ใดคัดค้าน เจ้าหน้าที่ก็จะเคาะไม้ขายทรัพย์สินนั้นๆ ให้ผู้ชนะประมูล ซึ่งผู้ชนะประมูลก็จะต้องชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์ในขั้นตอนต่อไป ส่วนผู้แพ้ประมูลก็รับเงินประกันคืนได้ทันที

ขั้นตอนหลังการประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดี

  1. ทำสัญญาซื้อขาย – ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องทำสัญญาซื้อขายและชำระเงินตามราคาที่ประมูล ณ วันที่ซื้อ หรือถ้าหากรอผลการอนุมัติสินเชื่อจากทางธนาคาร ก็จะต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือมีเอกสารยืนยันจากธนาคาร จึงจะสามารถขยายระยะเวลาได้ 15-90 วัน
  2. โอนกรรมสิทธิ์ - หลังจากที่ผู้ชนะการประมูลชำระเงินเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานกรมที่ดิน ให้ผู้ชนะการประมูลไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ประมูลได้จากกรมบังคับคดี ณ สำนักงานที่ดินด้วยตัวเอง พร้อมมอบเอกสารสิทธิ์และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการโอนกรรมสิทธิ์
  3. ชำระค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ – ในการเข้าร่วมประมูลทรัพย์ขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีจะมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ดังนี้
    - เงินวางมัดจำในการประมูล
    - เงินส่วนต่างหากประมูลได้
    - ค่าอากรแสตมป์
    - ค่าโอน 2% ของราคาประเมินที่ดิน
    - ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คิดจากราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน
    - ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมินสำนักงานที่ดิน
    - ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน
    - ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย

ซึ่งเมื่อการประมูลและชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เรียบร้อยหมดแล้ว ก็ถือได้ว่าทรัพย์สินที่ประมูลได้มานั้นเป็นของคุณโดยสมบูรณ์แบบ และทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการประมูลทรัพย์สินขายทอดตลาดจากกรมบังคับคดีที่ทีมงาน Renthub ได้นำมาฝาก และไว้โอกาศหน้าเราจะมีข้อมูลที่น่าสนใจอะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวบรวมทุก Lifestyle ของชาวหอพัก

RELATED ARTICLES

เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2568" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2568" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าการเช็คราคาประเมินที่ดินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เราก็คงจะต้องขอบอกเลยว่าคุณคิด “ผิด” เพราะในปัจจุบันนี้กรมธนารักษ์และกรมที่ดินได้เปิดให้ประชาชนสามารถเช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินให้เสียเวลาเหมือนในอดีต อีกทั้งเจ้าของหอพักหรือผู้ที่กำลังมองหาทำเลเพื่อสร้างหอพักอพาร์ทเม้นท์คุณก็สามารถเช็คราคาประเมินที่ดินได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน ดังต่อไปนี้...

โพสต์เมื่อ08 February 2025
"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!

กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้ให้ละเอียดละเข้าใจ เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเจ้าของหอพักหัวหมอ!

โพสต์เมื่อ05 January 2025

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2024, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram
Instagram
Instagram