สำหรับเอกสารหรือหนังสือมอบอำนาจ ถือได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญที่คุณจำเป็นจะต้องตรวจสอบรายละเอียดทุกครั้งก่อนที่จะเซ็น เพราะนี่คือการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินธุรกรรมหรือดำเนินการเรื่องต่าง ๆ แทนตัวคุณ แต่หากใครที่ยังสงสัยอยู่ว่า...หนังสือมอบอำนาจใช้ทำอะไรได้บ้าง ? รายละเอียดภายในหนังสือมอบอำนาจควรมีหรือต้องระวังในเรื่องใด ? วันนี้เราก็ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจมาฝาก พร้อมไฟล์ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจฟรีมาแจก
หนังสือมอบอำนาจคืออะไร ?
หนังสือมอบอำนาจ คือ หนังสือที่ผู้มอบอำนาจนั้น จะมอบอำนาจให้แก่บุคคลอื่นหรือเราจะเรียกว่า “ผู้รับมอบอำนาจ” ซึ่งอาจจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ไม่จำกัด เพื่อดำเนินการธุระหรือกิจกรรมแทนผู้มอบอำนาจ เช่น มอบอำนาจในการปฏิบัติงานแทน ทำธุระที่เกี่ยวข้องกับทางกฎหมาย มอบอำนาจการจดทะเบียนแทนหรือแม้แต่ธุระส่วนตัว ก็สามารถใช้หนังสือมอบอำนาจนี้ได้เช่นกัน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “หนังสือมอบอำนาจ”
- ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจะเป็นผู้ดำเนินการในนามของผู้มอบอำนาจเสมือนผู้ที่มอบอำนาจเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยผู้มอบอำนาจจะต้องกำหนดเงื่อนไข ระยะเวลา เริ่มต้นและสิ้นสุดในหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจน
- ในกรณีที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำการเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับนั้น การกระทำส่วนที่เกินมาจะไม่ผูกพันกับผู้มอบอำนาจ แต่จะผูกพันกับตัวผู้รับมอบอำนาจเอง ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด
- ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจต้องไม่เป็นผู้เยาว์ ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- ผู้รับมอบอำนาจนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือจะเป็นนิติบุคคลก็ได้
- หากมีการแก้ไขหรือขีดฆ่าข้อมูลต่าง ๆ ในหนังสือมอบอำนาจ ให้ระบุว่า ขีดฆ่าตกเติมกี่คำและผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกจุดที่ทำการแก้ไข
- โดยทั่วไปแล้วมักจะมีบุคคลที่ 3 เข้ามาเพื่อเป็นพยานรับรู้อีกหนึ่งคนหรือบางหนังสือมอบอำนาจให้มีพยานอย่างน้อย 2 คน
ข้อควรระวังในการเขียนหนังสือมอบอำนาจ
หนังสือมอบอำนาจถือได้ว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ เพราะตามที่เราได้กล่าวไปเมื่อตอนต้นว่า...หนังสือหรือเอกสารฉบับนี้จะเป็นการมอบสิทธิ์ให้บุคคลอื่น(ผู้รับมอบอำนาจ) ได้ไปดำเนินการธุระหรือกิจกรรมแทน ดังนั้นการเขียนหนังสือมอบอำนาจจึงเป็นเรื่องที่คุณจะต้องมีความระมัดระวังในการเขียนและต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนในทุก ๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการผิดพลาดหรือนำหนังสือมอบอำนาจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยข้อควรระวังในการเขียนหนังสือมอบอำนาจประกอบไปด้วย...
ควรใส่ข้อมูลหรือรายละเอียดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
- ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ : ระบุชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ให้ชัดเจน
- วัน/เวลา/สถานที่ : ระบุวันที่ เวลา และสถานที่ที่ทำหนังสือมอบอำนาจ
- เรื่อง : ระบุเรื่องที่มอบอำนาจให้ชัดเจน อาทิ ซื้อขายที่ดิน จำนองรถยนต์ ฟ้องร้องคดี เป็นต้น
- ข้อมูลตัวเลข : หากมีตัวเลข ให้ระบุตัวเลขให้ชัดเจนเป็นภาษาเขียนกำกับไว้
ระบุขอบเขตอำนาจ
- ให้ระบุรายละเอียดของอำนาจที่มอบให้ชัดเจนว่าให้ไปทำอะไร ? อาทิ ทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อขายอสังหา ฯลฯ
- ควรระบุวันที่สิ้นสุดอำนาจให้ชัดเจน
- หากมีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย
รูปแบบการทำหนังสือมอบอำนาจ
ในกรณีที่ไม่ได้พิมพ์หนังสือมอบอำนาจ ผู้เขียนควรจะต้องเป็นคน ๆ เดียว เพื่อให้ลายมือเหมือนกันทั้งฉบับ รวมไปถึงควรใช้ปากกาสีเดียวกันทั้งฉบับ เพื่อป้องกันการแก้ไขรายละเอียดในหนังสือมอบอำนาจ
หากมีการแก้ไขข้อมูลในหนังสือมอบอำนาจ
หากมีการแก้ไขข้อมูลในหนังสือมอบอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการลบ การเติม การขีดฆ่า ฯลฯ ผู้มอบอำนาจจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกจุดที่มีการแก้ไข
กรณีพิเศษ
ในกรณีผู้มอบอำนาจเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ต้องมีผู้จัดการมรดกหรือผู้พิทักษ์เป็นผู้มอบอำนาจแทน
รายละเอียดที่ต้องมีในแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจ (บุคคลทั่วไป )
- เขียนที่
- วัน/เดือน/ปี ที่ทำหนังสือมอบอำนาจ
- ข้อมูลผู้มอบอำนาจ เช่น ชื่อ/สัญชาติ/อายุ/ที่อยู่ เป็นต้น
- ข้อมูลผู้รับมอบอำนาจ เช่น ชื่อ/สัญชาติ/อายุ/ที่อยู่ เป็นต้น
- เรื่องที่รับมอบอำนาจ
- ระบุวันที่สิ้นสุดอำนาจ
- ลงชื่อผู้รับมอบอำนาจ
- ลงชื่อผู้รับมอบอำนาจ
- ลงชื่อพยานในหนังสือมอบอำนาจ
ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ
สำหรับใครที่ไม่อยากจะต้องมานั่งร่างหนังสือมอบอำนาจเอง คุณก็สามารถเข้าไปดาวโหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจได้ที่ ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ
ก่อนการเซ็นเอกสารหรือหนังสือมอบอำนาจทุกครั้ง คุณอย่าลืมที่จะตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่เราได้กล่าวไปข้างต้นให้ดี เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรแบบนี้มาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog บทความที่รวมทุกเรื่องราวของชาวหอพักอพาร์ทเม้นท์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Propertyhub Blog