คำถามที่ว่า “TGAT TPAT คืออะไร ?” คงจะเป็นคำถามที่น้อง ๆ และผู้ปกครองเกิดความสงสัยเพราะยังไม่คุ้นชินกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบนี้ การสอบTGAT TPAT ถือได้ว่าเป็นการสอบรูปแบบใหม่(ประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2566 เป็นครั้งแรก) และทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอีกว่า...จะต้องอ่านหรือเตรียมตัวอย่างไรในการสอบ TGAT TPAT ? ซึ่งในวันนี้เราก็ได้สรุปข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการสอบ TGAT TPAT มาฝากค่ะ ซึ่งรับรองเลยว่าถ้าอ่านบทความนี้จบน้อง ๆ จะสามารถเตรียมตัวสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน และถ้าพร้อมแล้วเราไปดูกันดีกว่าว่าการสอบ TGAT TPAT มันคืออะไรกันแน่ ?
TGAT TPAT คืออะไร ?
TGAT TPAT คือ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรูปแบบใหม่ ซึ่งมาจาก “ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย” หรือ ทปอ. ทั้งนี้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชาที่ใช้สอบในแต่ละสนาม โดยเน้นความรู้ที่ผู้สอบสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด ไม่ใช่แค่การท่องจำเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต
- การสอบ GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ จะถูกยกเลิก และเปลี่ยนมาเป็น TGAT, TPAT และ A-Level แทน
- TGAT TPAT สามารถเลือกได้ว่าจะสอบด้วยกระดาษหรือสอบด้วยคอมพิวเตอร์ (ยกเว้นการสอบ TPAT1 ข้อสอบความถนัดแพทย์ และ A-Level จะใช้ข้อสอบแบบกระดาษเพียงอย่างเดียว)
- ไม่สามารถเลือกสอบแบบภาษาไทยหรืออังกฤษได้แล้ว
- เพิ่มภาษาอังกฤษ, สเปน ในวิชา A-Level
TGAT คืออะไร ?
TGAT หรือ Thai General Aptitude Test เป็นข้อสอบวัดสมรรถนะการเรียนรู้ทั่วไป มีการปรับรายวิชามาจาก GAT เดิม แบ่งออกเป็น 3 พาร์ท คะแนนรวม 300 คะแนน ประกอบไปด้วย...
1. การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication)
การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication) เป็นพาร์ทการสอบ TGAT ที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยข้อสอบจะเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก 100 คะแนน ระยะเวลาในการทำข้อสอบ 60 นาที โดยมีเนื้อหาที่ต้องสอบดังนี้
ทักษะการพูด (30 ข้อ)
- การถาม-ตอบ (10 ข้อ)
- เติมบทสนทนาแบบสั้น (10 ข้อ)
- เติมบทสนทนาแบบยาว (10 ข้อ)
ทักษะการอ่าน (30 ข้อ)
- เติมข้อความเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ (15 ข้อ)
- อ่านเพื่อจับใจความ (15 ข้อ)
2. การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical and Logical Thinking)
การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical & Logical Thinking) เป็นการสอบที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การเข้าใจ การวิพากษ์ข้อมูลข่าวสารโดยใช้เหตุผลเชิงปริมาณและการคิดอย่างมีตรรกะ มีเป็นข้อสอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก คะแนนเต็ม 100 คะแนน ระยะเวลาในการทำข้อสอบ 60 นาที ซึ่งการสอบ TGAT 2 แบ่งออกเป็น 4 พาร์ท ดังนี้
- ความสามารถทางภาษา (ภาษาไทย) : เน้นการสื่อความหมาย การใช้ภาษา การอ่าน การเข้าใจภาษา (20 ข้อ)
- ความสามารถทางตัวเลข (คณิตศาสตร์) : เน้นการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ อนุกรมมิติ ความเพียงพอของข้อมูลและโจทย์ปัญหา (20 ข้อ)
- ความสามารถทางมิติสัมพันธ์ (คณิตศาสตร์) : เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและใช้ตรรกะ เกี่ยวกับรูปทรง (20 ข้อ)
- ความสามารถทางเหตุผล (ภาษาไทย + คณิตศาสตร์ ) : เน้นการสรุปความ วิเคราะห์ข้อความ อุปมาอุปไมย อนุกรมภาพ (20 ข้อ)
3. สมรรถนะด้านการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competencies)
เป็นการสอบวัดทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต หรือเรียกง่าย ๆ ว่าข้อสอบวัดทัศนคติ โดยจะเน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาต่าง ๆ การตัดสินใจและแนวคิดในการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะแยกออกมาเป็น 4 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้
3.1 Value Creation & Innovation : การสร้างคุณค่าและวัฒนธรรม
จำนวน 15 ข้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- การคิดเชิงวิเคราะห์
- การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ
- ความคิดเชิงนวัตกรรม
3.2 Complex Problem Solving : การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
จำนวน 15 ข้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- การระบุปัญหา
- การแสวงหาทางออก
- การนำทางออกไปแก้ปัญหา
- การประเมินทางออกเพื่อการพัฒนาปรับปรุง
3.3 Emotional Governance : การบริการจัดการอารมณ์
จำนวน 15 ข้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- ความตระหนักรู้ตนเอง
- การควบคุมอารมณ์และบุคลิกภาพ
- ความเข้าใจผู้อื่น
3.4 Civic Engagement : การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม
จำนวน 15 ข้อ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- การมุ่งเน้นการบริการสังคม
- จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- การสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
TPAT คืออะไร ?
TPAT หรือ Thai Professional Aptitude Test เป็นข้อสอบความถนัดด้านวิชาชีพ มีการปรับวิชามาจาก PAT ให้เหลือเพียง 5 รายวิชา และคะแนนเต็มรวม 100 คะแนน ประกอบไปด้วย…
TPAT1 : กสพท. หรือความถนัดแพทย์ (สอบรูปแบบกระดาษเท่านั้น)
ข้อสอบสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในกลุ่ม กสพท (สำหรับคณะแพทย์อื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วม กสทพ ก็สามารถใช้ TPAT1 ในการยื่นได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องดูข้อกำหนดของทางมหาวิทยาลัยเป็นหลัก)
TPAT2 : ความถนัดศิลปกรรมศาสตร์
ข้อสอบสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบเข้าคณะสายศิลปกรรมศาสตร์ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 พาร์ท คือ
- TPAT21 ทัศนศิลป์
- TPAT22 ดนตรี
- TPAT23 นาฏศิลป์
ซึ่งสามารถเลือกสอบได้ตามความถนัด(เนื้อหาข้อสอบทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง) มีข้อสอบทั้งหมด 150 ข้อ 100 คะแนน ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง
TPAT3 : ความถนัดวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์
ข้อสอบสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบเข้าคณะสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ มีข้อสอบทั้งหมด 70 ข้อ 100 คะแนน ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง โดยข้อสอบจะแบ่งออกเป็น 2 พาร์ท คือ
- การทดสอบความถนัดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (45 ข้อ)
- การทดสอบความคิดและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (25 ข้อ)
TPAT4 : ความถนัดสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ไม่ต้องสอบวาดรูป)
ข้อสอบสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีข้อสอบทั้งหมด 80 ข้อ 100 คะแนน ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง โดยเนื้อหาข้อสอบจะถูกแบ่งออกเป็น 4 พาร์ทใหญ่ ๆ คือ
- ความรู้ทั่วไปด้านศิลปะและการออกแบบ ที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน (24 ข้อ)
- ความรู้ทั่วไปด้านทฤษฎีสีและทฤษฎีด้านความงามทางศิลปะและงานสถาปัตยกรรม (16 ข้อ)
- ความรู้พื้นฐานระบบโครงสร้าง ประเภทและลักษณะโครงสร้าง องค์ประกอบของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม และงานระบบพื้นฐานในงานสถาปัตยกรรม (24 ข้อ)
- การรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์และรูปทรง (16 ข้อ)
TPAT5 : ความถนัดครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ (วิชาชีพครู)
ข้อสอบสำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะสอบเข้าคณะครู มีข้อสอบทั้งหมด 100 ข้อ 100 คะแนน ใช้เวลาในการสอบ 3 ชั่วโมง โดยเนื้อหาข้อสอบจะถูกแบ่งออกเป็น 2 พาร์ท คือ
- ความสามารถพื้นฐานทางวิชาชีพครู (50 ข้อ)
- คุณลักษณะความเป็นครู (50 ข้อ)
A-Level หรือ Applied Knowledge คืออะไร ?
A-Level หรือ Applied Knowledge คือ ข้อสอบที่วัดความรู้เชิงวิชาการ ซึ่งเป็นชื่อเรียกใหม่ ที่ถูกใช้แทน 9 วิชาสามัญ(เดิม) มีวิชาที่สอบทั้งหมด 10 วิชา (วิชาละ 100 คะแนน) ดังนี้
- คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1 (พื้นฐาน+เพิ่มเติม)
- คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2 (พื้นฐาน)
- วิทยาศาสตร์ประยุกต์
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีววิทยา
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษา
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาต่างประเทศ (ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, จีน, บาหลี, เกาหลี)
ใครสอบ TGAT TPAT ได้บ้าง ?
สำหรับผู้ที่มีสิทธิ์สอบ TGAT TPAT คือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า(ปวช. ปวส. หรือนักเรียนที่เรียนจบจากต่างประเทศ) เท่านั้น ทั้งนี้จะต้องลงทะเบียน TCAS ใน mytcas ให้เรียบร้อยเสียก่อน ถึงจะสมัครสอบ TGAT TPAT ได้
การสอบ TGAT TPAT ต้องสอบทุกคนไหม ?
การสอบ TGAT TPAT ไม่ใช่เป็นการสอบภาคบังคับ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องสอบ แต่อย่างไรก็ตามคะแนนสอบ TGAT TPAT ค่อนข้างที่จะมีความสำคัญค่ะ เพราะคะแนนจะถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อศึกษาต่อในระบบ TCAS หลายรอบด้วยกัน อีกทั้งหลาย ๆ มหาวิทยาลัยยังใช้คะแนนสอบ TGAT TPAT เป็นหนึ่งในเกณฑ์สำหรับคัดเลือกนักศึกษาอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราขอแนะนำให้น้อง ๆ เข้าสอบ TGAT TPAT จะดีกว่าค่ะ
คะแนน TGAT TPAT มีอายุเท่าไหร่ ?
คะแนน TGAT TPAT มีอายุ 1 ปี
ใช้คะแนน TGAT TPAT รอบไหน ?
สำหรับคำถามที่ว่า คะแนน TGAT TPAT ใช้ในการสอบรอบไหน ? คำตอบก็คือน้อง ๆ สามารถใช้คะแนน TGAT TPAT ได้ใน 3 รอบ หลัก ๆ คือ รอบ 1 Portfolio, รอบ 2 Quota และ รอบ 3 Admission
- รอบ 1 Portfolio : เน้นความสามารถที่โดดเด่น ผลงานแบบแน่น ๆ มีทักษะ มีความสามารถและคุณสมบัติพิเศษตรงตามความต้องการของมหาวิทยาลัย (คะแนนที่ใช้ยื่น : GPAX , TGAT , TPAT)
- รอบ 2 Quota : สำหรับน้อง ๆ ในโครงการพิเศษ และน้อง ๆ ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ ซึ่งต้องอยู่ในตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดร่วมด้วย อาทิ ความสามารถด้านการเรียน ด้านกีฬา ด้านดนตรี ด้านศิลปะ ฯลฯ ทั้งนี้อาจจะใช้ทั้งคะแนน TGAT TPAT และ A-Level ซึ่งบางครั้งอาจจะมีข้อสอบที่ทางมหามวิทยาลัยออกเองด้วย
- รอบ 3 Admission : รอบรับตรง เปิดสมัครพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งในรอบนี้จะพิจารณาจากคะแนนเป็นหลัก และก็แน่นอนค่ะว่าจะต้องใช้คะแนนสอบ TGAT TPAT และ A-Level
- รอบ 4 Direct Admission : รอบรับตรงอิสระ หรือเรามักจะเรียกกันว่ารอบเก็บตก ซึ่งรอบนี้เปิดรับค่อนข้างที่จะน้อยและไม่ได้เปิดรับทุกมหาวิทยาลัย โดยคะแนนที่ใช้อาจจะเป็น TGAT TPAT A-Level หรือขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยกำหนด
รายละเอียดข้างต้นคงพอจะทำให้น้อง ๆ และผู้ปกครองเข้าใจกับการสอบ TGAT TPAT กันเพิ่มมากขึ้นนะคะ และในนามของทีมงาน Renthub ก็ขออวยพรให้น้อง ๆ สอบติดมหาวิทยาลัยที่หวัง ได้คะแนนสอบออกมาสมกับที่ตั้งใจ และที่สำคัญอย่าลืมทบทวนบทเรียน ฝึกทำโจทย์อยู่เสมอ ๆ เพื่อที่ว่าไปเจอข้อสอบจริง ๆ จะได้ไม่ตื่นเต้นนั่นเองค่ะ หรือถ้าหากใครต้องการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็สามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ “รวมพิกัดมูเตลู(ขอพรเรื่องเรียน) สำหรับนักเรียน/นักศึกษาโดยเฉพาะ” และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก ก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวบรวมทุกเรื่องราวของชาวเด็กหอฯ
ดาวน์โหลด Renthub App เพื่อให้การค้นหาหอพักของคุณเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้วได้ที่ > คลิก (รองรับทั้งระบบ IOS และ Android)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.cututoronline.com, https://www.ondemand.in.th และ https://www.mytcas.com