ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลาย ๆ คน ยังคงสับสนและสงสัยว่า “อากรแสตมป์” กับ “แสตมป์ไปรษณีย์” เกี่ยวข้องกันอย่างไร ? แสตมป์ทั้งสองแบบนี้เหมือนกันหรือไม่ ? ใช้แทนกันได้หรือเปล่า ? ฯลฯ ซึ่งความสงสัยที่เกิดขึ้นนี้ก็คงจะไม่แปลกอะไร เพราะเมื่อไหร่ที่กล่าวคำว่าแสตมป์ขึ้นมาผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงแสตมป์ที่เอาไว้แปะหน้าซองจดหมายก่อนส่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว อากรแสตมป์และแสตมป์ไปรษณีย์ค่อนข้างที่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพียงแค่มีชื่อเรียกคล้าย ๆ กันเท่านั้น และในวันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้กัน
อากรแสตมป์ คืออะไร ?
อากรแสตมป์ หรือตราสาร (Stamp Duty) คือ ภาษีประเภทหนึ่งอันเป็นไปตามประมวลกฎหมายรัษฎากร ดำเนินการจัดเก็บในลักษณะของดวงแสตมป์ โดยกรมสรรพากรจะทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บ อากรแสตมป์ใช้สำหรับติดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่าง ๆ ซึ่งเอกสารใดก็ตามที่ทำการติดอากรแสตมป์จะสามารถใช้ในการยื่นเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้
ทั้งนี้การเสียภาษีอากรแสตมป์ คือการซื้ออากรแสตมป์จากสรรพากรมาแปะติดเอาไว้ในสัญญาหรือเอกสารราชการตามที่กฎหมายกำหนด หากไม่ทำการติดแสตมป์ดังกล่าวอาจมีความผิดทางกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา ส่วนสำหรับเอกสารที่ต้องทำการติดอากรแสตมป์มีทั้งหมด 28 ชนิดด้วยกัน ประกอบไปด้วย
- เอกสารเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง
- เอกสารโอนใบหุ้น หุ้นกู้ พันะบัตร และใบรับรองหนี้
- เอกสารการเช่าซื้อทรัพย์สิน
- เอกสารการจ้างทำของ
- เอกสารกู้ยืม เอกสารตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
- เอกสารกรมธรรม์ประกันภัย
- เอกสารใบมอบอำนาจ
- เอกสารใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท
- ตั๋วแลกเงินหรือตราสาร และตั๋วสัญญาใช้เงินหรือตราสาร
- เอกสารบิลออฟเลดิง
- เอกสารใบหุ้น หรือใบหุ้นกู้ พันธบัตรของรัฐบาลใด ๆ ที่ขายในประเทศไทย
- เช็ค หรือหนังสือใด ๆ ที่ใช้แทนเช็ค
- ใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ย
- เลคเตอร์ออฟเครดิต
- เช็คสำหรับผู้เดินทาง
- เอกสารใบรับรอง
- เอกสารจำนำ
- เอกสารการค้ำประกัน
- ใบรับรองของคลังสินค้า
- เอกสารคำสั่งให้ส่งมอบของ
- เอกสารตัวแทน
- เอกสารคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
- เอกสารคู่ฉบับ หรือคู่ฉีกแห่งตราสาร
- เอกสารหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทจำกัด
- เอกสารข้อบังคับของบริษัทจำกัดที่ส่งต่อนายทะเบียน
- เอกสารข้อบังคับใหม่ หรือสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ
- เอกสารหนังสือสัญญาห้างหุ้นส่วน
- เอกสารใบรับ
จำนวนอากรแสตมป์จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอัตราของสัญญาหรือตราสารที่กำหนด ซึ่งแต่ละอันจะใช้ไม่เท่ากัน เช่น การเช่าที่ดินค่าอากรแสตมป์ เริ่มที่ 1 บาท หรือตั๋วแลกเงินค่าอากรแสตมป์ ฉบับละ 3 บาท เป็นต้น ทั้งนี้อากรแสตมป์ไม่ใช่ดวงตราไปรษณีย์ จึงไม่สามารถนำไปใช้ติดซองจดหมายได้
แสตมป์ไปรษณีย์ คืออะไร ?
แสตมป์ไปรษณีย์ หรือตราไปรษณียากร (Postage Stamp) คือ เอกสารที่ใช้ในการยืนยันว่าได้ชำระค่าบริการของทางไปรษณีย์เรียบร้อยแล้ว โดยการนำมาติดลงบนซองจดหมายแล้วมีตราที่ทำการไปรษณีย์ประทับเพื่อให้ทราบว่า...ฝากส่งที่ไหน วันเดือนปีใด เวลาไหน และการประทับตราที่ทำการไปรษณีย์จะต้องประทับบนตราไปรษณียากรให้คาบติดกับกระดาษซองจดหมาย เพื่อป้องกันแสตมป์หลุดหายไปจากซอง จะได้ทราบว่าจดหมายฉบับนี้ได้ชำระค่าแสตมป์แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ลักษณะของแสตมป์ไปรษณีย์เป็นสี่เหลี่ยม มีขนาดและลวดลายที่หลากหลาย ซึ่งบางคนก็นิยมสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรก เพราะบางชุดที่ผลิตออกมาจะมีลวดลายเฉพาะ เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ เป็นต้น
จากข้อมูลที่เราได้กล่าวไป คงพอจะทำให้คุณได้รู้กันแล้วว่าอากรแสตมป์และแสตมป์ไปรษณีย์มีความแตกต่างกันค่อนข้างที่จะชัดเจนในด้านของการใช้งาน คือ อากรแสตมป์เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่สรรพากรจัดเก็บจากการทำสัญญาหรือเอกสารราชการ ทั้ง 28 ชนิดตามที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น หากไม่ทำการติดอากรแสตมป์อาจจะมีความผิดทางกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา และแสตมป์ไปรษณีย์เปรียบเสมือนใบเสร็จที่ชำระค่าฝากส่งทางไปรษณีย์ และไว้โอกาสหน้าเราจะนำข้อมูลดี ๆ อะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามได้ที่ Renthub Blog บทความที่รวบรวมทุกเรื่องราวของชาวหอพักอพาร์ทเม้นท์
: ดาวน์โหลด Renthub App เพื่อให้การค้นหาหอพักของคุณเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงแค่ปลายนิ้วได้ที่ > คลิก (รองรับทั้งระบบ IOS และ Android)