สำหรับใครที่อยากจะทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า คุณก็จำเป็นที่จะต้องเสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนระหว่างนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ดี เพราะมันจะเป็นตัวแปรสำคัญในการประกอบธุรกิจของคุณเลยก็ว่าได้ ดังนั้นในบทความนี้ Renthub จึงจะมาขยายความ เกี่ยวกับการจดทะเบียนระหว่างนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้คุณได้หายสงสัยกัน!
ทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ต้องเคลียร์วัตถุประสงค์ให้ชัด!
ใครที่กำลังคิดจะสร้างรายได้แบบเสือนอนกินระยะยาวด้วยการสร้างอพาร์ทเม้นท์ให้เช่านั้น คุณจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจนี้ให้ดีเสียก่อน เพราะเชื่อว่าหลายคนมักติดปากกับการเรียกอพาร์ทเม้นท์ ว่าหอพัก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วตามเนื้อความของ พรบ. หอพัก 2558 นั้นมีความแตกต่างกัน เพราะถ้าขึ้นชื่อว่า “หอพัก” ซึ่งหมายถึงสถานที่ให้กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีมีอายุไม่เกิน 25 ปี เข้าพักในรูปแบบการเรียกเก็บค่าเช่านั้นจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎกระทรวงกำหนด แต่ถ้าเป็น “อพาร์ทเม้นท์” จะเป็นอาคารที่ถูกควบคุมด้วยราชกิจจานุเบกษาฉบับใหม่ 2561 โดยระบุว่าเป็น “ห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ทเม้นท์ หรือสถานที่พักอาศัย ที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่จัดขึ้นสําหรับการให้เช่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย แต่ไม่รวมถึงหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก และโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม”
(อ่านเพิ่มเติม : จดทะเบียนหอพัก VS อพาร์ทเม้นท์ แตกต่างกันอย่างไร ?)
ไขคำตอบ ? ทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ จดทะเบียนนิติบุคคล VS บุคคลธรรมดา
หลังจากรู้วัตถุประสงค์ของการทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์แล้ว ขั้นตอนต่อไปเรียกว่าเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังหาคำตอบอยู่ว่า จะลงนามการเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ที่สร้างขึ้นมาในรูปแบบไหนดี ซึ่งตามกฎระเบียบข้อบังคับนั้นมีการแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ โดยมีตัวแปร การวัดความแตกต่างอยู่ที่ “การจ่ายภาษี” เป็นหลักดังนี้ ...
1. นิติบุคคล
กรณีที่เลือกรูปแบบ "นิติบุคคล" อันเกิดจากการจัดตั้งบริษัทขึ้นมานั้น แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการแสดงบัญชีรายได้และค่าใช้อย่างครบถ้วน และต้องมีการตรวจสอบบัญชี และรอบระยะบัญชี 12 เดือน โดยจะมีการคำนวณภาษีจากยอดกำไรรายได้สุทธิ – ค่าใช้จ่าย คูณด้วยอัตราภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนดในปี 2562 ดังนี้...
หากกำไรไม่เกิน 300,000 บาท ภาษี 0%
กำไร 300,001 – 3,000,000 บาท ภาษี 15%
กำไร 3,000,000 บาทขึ้นไป ภาษี 20%
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม Renthub จะแจ้ง *** กรณีดังกล่าวต้องมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ***
2. บุคคลธรรมดา
รูปแบบนี้เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ในรูปแบบของการใช้ชื่อบุคคลธรรมดา ข้อดีคือไม่ต้องรวบรวมบัญชีและทำการตรวจบัญชีให้ยุ่งยาก แต่สำหรับการเสียภาษีนั้นจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิ ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดรายละเอียดดังต่อไปนี้
รายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท อัตราภาษีอยู่ที่ 5% (ยกเว้น 150,000 บาทแรก ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 470)
รายได้สุทธิ 300,001 – 500,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 10%
รายได้สุทธิ 500,001 – 750,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 15%
รายได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 20%
รายได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 25%
รายได้สุทธิ 2,000,000 – 5,000,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 30%
รายได้สุทธิเกิน 5,000,000 อัตราภาษีอยู่ที่ 35%
Renthub อยากบอก 📢
จะเห็นว่ากรณีของบุคคลธรรมดา หากกิจการให้เช่าอพาร์ทเม้นท์คุณ มีรายได้หลั่งไหลมาไม่ขาดสาย แน่นอนว่ารายได้สุทธิคงพุ่งกระฉูด สิ่งที่ตามมาคือการเสียภาษีมากถึง 30% และถ้าหากมีรายได้หลายทางอีก ถึงเวลาเสียภาษีคงต้องหาลดหย่อนมาช่วย ดังนั้นควรหาทางเลือกอีกวิธีด้วยการแสดงความเป็นเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ในรูปแบบนิติบุคคล จะช่วยทำให้ลดภาระการจ่ายภาษีลงได้!
สรุปได้ว่าการจดทะเบียนทำธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ไม่ว่าจะเป็นใน "รูปแบบนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา" ต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่างเรื่องของภาษีที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องแบบโดยตรง อีกทั้งกรณีของนิติบุคคลต้องดำเนินการก่อนยื่นเรื่องก่อสร้างกับทางกรมโยธาธิการและผังเมืองอีกด้วย!
และสำหรับเจ้าของอพาร์ทเม้นท์/หอพักท่านใด ที่ต้องการปล่อยห้องว่างหรือเพิ่มฐานลูกค้า คุณก็สามารถมาลงประกาศ(ฟรี) ได้ที่ Renthub เว็บไซตฺ์ค้นหาหอพักอันดับหนึ่งของไทย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ราชกิจจานุเบกษา