ในอดีตที่ผ่านมาหลายๆ คน คงจะเคยรับรู้ข่าวสารหรือเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการร้องเรียนปัญหาค่าน้ำ/ค่าไฟ/ค่าส่วนต่างเกินความเป็นจริงจากผู้ที่อาศัยอยู่ภายในหอพักและอพาร์ทเม้นท์ จนส่งผลให้เกิดความกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อให้แก่ผู้ประกอบการหัวหมอ รวมไปถึงในแง่ของผู้ประกอบการหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ต่างก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิประโยชน์ของผู้เช่าเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ต้องมีการปัดฝุ่นวิชากฎหมายกันใหม่เพื่อตัดไฟ(ปัญหาต่างๆ)ตั้งแต่ต้นลม
รวมประเด็นกฎหมายใหม่คุ้มครองทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า
กฎหมายใหม่ที่ว่านี้ คือการออกราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยเรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา” ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยประเด็นเนื้อหารายละเอียดจะเกี่ยวข้องการทำสัญญาระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าดังนี้...
ว่าด้วยเรื่องสัญญา
ตัวหนังสือในสัญญาต้องเป็นภาษาไทย มองเห็นและอ่านได้ชัดเจน
หนังสือสัญญา ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ของผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้เช่า รวมถึงที่อยู่ของอพาร์ทเมนท์
รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพอาคาร
ระบุระยะเวลาเช่า พร้อมอัตราค่าเช่า โดยแสดงวิธีการและกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าอาคาร
แจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายอย่างตรงไปตรงมา เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เนต และอื่นๆ รวมไปถึงเงินประกัน
หนังสือสัญญาเช่า ต้องจัดทำขึ้น 2 ฉบับ และมีข้อความตรงกันทุกตัวอักษร โดยให้ผู้เช่าเก็บไว้ 1 ฉบับ ผู้ประกอบการธุรกิจอพาร์ทเมนท์เก็บไว้ 1 ฉบับ
กฎระเบียบสำหรับการทำธุรกิจให้เช่าอพาร์ทเม้นท์
ผู้ประกอบการธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ต้องส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้เช่าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
ผู้ประกอบการธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ต้องจัดทำหลักฐานตรวจรับสภาพอาคาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ พร้อมแนบกับหนังสือสัญญาให้ผู้เช่า
หากหนังสือสัญญาผู้เช่าสิ้นสุด ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคืนเงินประกันให้ผู้เช่าทันที เว้นแต่ผู้เช่าได้ทำความเสียหายในห้องชุดตามที่ระบุในรายละเอียดสัญญา
ผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนสัญญาหมดอายุได้ แต่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่มีข้อแม้ว่าผู้เช่าต้องไม่ทำความเสียหายภายในห้องชุด
สรุปกฎหมายใหม่คุมอพาร์ทเม้นท์เอื้อสิทธิประโยชน์ผู้เช่า
หากจะกล่าวว่ากฎหมายใหม่ที่ใช้คุมการประกอบกิจการอพาร์ทเม้นท์ที่ประกาศใช้ไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 นั้นใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน เราก็คงต้องตอบว่าเน้นการคุ้มครองสิทธิผู้เช่า ดังที่จะกล่าวข้อสรุปต่อไปนี้...
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน
ค่าเช่าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ระบุไว้ในสัญญา ห้ามมีการเปลี่ยนแปลงหากสัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุด
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถเรียกเก็บเงินประกันล่วงหน้า
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถเรียกเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ เกินตามอัตราที่การไฟฟ้าและกรมประปากำหนด
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบอาคาร โดยไม่แจ้งให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้า
ผู้ประกอบการธุรกิจห้ามปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าใช้ประโยชน์อาคาร
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีสิทธิเรียกค่าต่อสัญญาจากผู้เช่ารายเดิม
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า โดยที่ผู้เช่าไม่ผิดสัญญา
ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีสิทธิให้ผู้เช่ารับผิดชอบความเสียหาย ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ได้ทำความเสียหาย
หลังจากที่ได้อัพเดทเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายใหม่สำหรับควบคุมสิทธิประโยชน์ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าอพาร์ทเมนท์ไปแล้ว เราเชื่อว่าน่าจะทำให้หลายๆ คน อุ่นใจในการเข้าอยู่อาศัยภายในหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ มากยิ่งขึ้น และสำหรับที่กำลังมองหาหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ในราคาที่จับต้องได้ ทำเลที่ตั้งเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต คุณก็สามารถเข้าไปเลือกชมหอพัก/อพาร์ทเม้นท์กว่า 16,000 แห่ง ทั่วประเทศได้ที่ Renthub เว็บไซต์ค้นหาหอพักอันดับ 1 ของไทย!
อ่านรายละเอียดข้อกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ เพิ่มเติมได้ที่ Renthub Blog
Source : ratchakitcha