Renthub Logo
Home Icon

ภาษีมรดกคืออะไร ? หาคำตอบได้ในบทความนี้

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
25 July 2023
ภาษีมรดกคืออะไร ? หาคำตอบได้ในบทความนี้

หลายๆ คน คงจะกำลังสงสัยอยู่ว่า “ภาษีมรดก” คืออะไร ? ใครจะต้องจ่ายภาษีมรดก ? เพราะฉะนั้นในวันนี้ทางทีมงาน Renthub จึงได้สรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับภาษีมรดกในแบบฉบับที่เข้าใจได้ง่ายๆ มาฝากเหมือนเช่นเคย ซึ่งถ้าพร้อมแล้ว เราไปติดตามข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีมรดกพร้อมๆ กันเลย

ภาษีมรดกคืออะไร ?

ภาษีมรดก (Inheritance Tax) คือ ภาษีที่กรมสรรพากรเรียกเก็บจากผู้ที่ได้รับมรดก โดยต้องมีมูลค่ามรดกที่ได้รับเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ถึงจะสามารถเรียกเก็บภาษีมรดกได้ ซึ่งอัตราในการเรียกเก็บภาษีมรดกคือ 5 – 10% จากมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ทรัพย์สินมรดกที่จะต้องเสียภาษี ตามกฎหมายได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ได้ แก่ "สังหาริมทรัพย์" และ "อสังหาริมทรัพย์" โดยจะมีการแบ่งออกเป็น 5 ประเภทย่อยๆ ดังนี้

  1. อสังหาริมทรัพย์ : บ้าน คอนโด หอพัก อพาร์ทเม้นท์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ (ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ)
  2. เงินฝาก : เงินฝากในธนาคาร หรือเงินในรูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน (ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ)
  3. หลักทรัพย์ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ : หุ้น หุ้นกู้ ตราสารหนี้ หน่วยลงทุนและตราสารอนุพันธ์ต่างๆ ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ได้
  4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน : รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เรือ เครื่องบิน ฯลฯ ทั้งที่จดทะเบียนในประเทศไทยและต่างประเทศ
  5. ทรัพย์สินทางการเงิน : ที่จะถูกกำหนดเพิ่มขึ้นตามกฎหมายในอนาคต

อัตราการเก็บภาษีมรดก

อัตราในการเก็บภาษีมรดกนั้น จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่มั่นคงและมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ชัดเจน โดยทางทีมงานได้สรุปออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นบุพการี พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย หรือผู้สืบสันดาน เช่น ลูก หลาน เหลน จะเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 5%
  • ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นสามี ภรรยา ที่ได้มีการจดทะเบียนสมรส ไม่ต้องเสียภาษีมรดก
  • ผู้ที่ได้รับมรดกเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ให้มรดก จะเสียภาษีมรดกอยู่ที่ 10%

และในกรณีที่มีการยกมรดกให้หน่วยงานรัฐหรือยกให้แก่สาธารณะ มรดกก้อนนั้นจะได้รับการรยกเว้นภาษีมรดก

ใครบ้างที่จะต้องเสียภาษีมรดก ?

คำตอบง่ายๆ ของคำถามนี้เลยก็คือ...”ผู้ที่จะต้องเสียภาษีมรดกก็คือผู้ที่ได้รับมรดก” โดยอัตราการเสียภาษีมรดก ก็ตามรายละเอียดที่เราได้กล่าวไปเมื่อข้างต้น ทั้งนี้มูลค่าของมรดกจะต้องเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่ได้รับมรดกจะต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยรายละเอียดของผู้ที่จะได้รับมรดกมีดังนี้

บุคคลธรรมดา

  • เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
  • เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่หากได้รับมรดกที่อยู่ในประเทศไทยจะเสียภาษีเฉพาะมรดกที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย

หากผู้รับมรดกที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หากอยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ก็จะต้องเสียภาษีมรดกเช่นกัน

  • เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย
  • นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายในประเทศไทย
  • เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก
  • เป็นนิติบุคคลที่ผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกินกึ่งหนึ่งของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด

ในกรณีที่นิติบุคคลไม่มีสัญชาติไทย และหากได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

หากไม่ยอมเสียภาษีมรดกจะเกิดอะไรขึ้น ?

หากได้รับมรดกไปแล้ว แต่หลีกหนีไม่ยอมเสียภาษีมรดก เราก็ขอบอกเลยว่ามีความผิดทางกฎหมายแบบเต็มๆ ซึ่งบทลงโทษจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

บทลงโทษสำหรับบุคคลธรรมดา

  • หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • หากทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัด ให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท
  • หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือให้ความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี หรือแนะนำหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทลงโทษสำหรับนิติบุคคล

หากผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคล ต้องรับโทษ โดยถือว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

รายละเอียดทั้งหมดเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ “ภาษีมรดก” ที่ทางทีมงาน Renthub ได้สรุปใจความสำคัญมาฝาก ซึ่งหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จะกลายเป็นมรดกให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อไป ดังนั้นหากคุณศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยทำให้คุณสามารถวางแผนทางการเงินและวางแผนชีวิตในอนาคตได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

: Renthub Blog บทความที่รวมทุกๆ เรื่องราวของชาวหอพัก

RELATED ARTICLES

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

สำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำมานานแล้วอาจกำลังหาสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 อยู่ ในวันนี้ทีมงาน Renthub ก็ได้รวบรวมข้อมูลอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67) มาฝาก

โพสต์เมื่อ19 July 2024
แคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ขึ้นเงินที่ไหนได้บ้าง ?

แคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ขึ้นเงินที่ไหนได้บ้าง ?

การใช้แคชเชียร์เช็คก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นักธุรกิจส่วนใหญ่เลือกใช้ และก็ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่าหลาย ๆ คน ยังไม่รู้จักว่าแคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ต่างจากการเซ็นต์เช็คแบบธรรมดาหรือไม่ ? และสามารถนำแคชเชียร์เช็คไปขึ้นเงินได้ที่ไหน ? ซึ่งในวันนี้เราจึงจะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ “แคชเชียร์เช็ค” กัน

โพสต์เมื่อ10 July 2024

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2024, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram
Instagram
Instagram