ในช่วงเวลาสิ้นปี นอกเหนือจากกลิ่นอายของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนไทย(ผู้มีรายได้)ทุกคนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเลยก็คือ “การยื่นภาษี” ซึ่งในวันนี้เราก็จะขอมากล่าวถึงรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน ทั้งนี้ในปี 2566 รายการลดหย่อนภาษีมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปี 2565 และรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามข้อมูลที่ทางทีมงานได้นำมาฝากพร้อม ๆ กันเลย
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว
หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที
2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส
หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน
3. ค่าลดหย่อนบุตร
3.1 บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้
ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปีที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
3.2 บุตรบุญธรรม
ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย
หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี
4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์
5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้
6. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ
หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน
ค่าลดหย่อนภาษี จากการซื้อประกัน การออมเงิน และการลงทุน
1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่บังคับหักเข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยมีขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุด 750 บาท/เดือน (จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น)
2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์
ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท
3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ
หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา
สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป
6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท
7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ
ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี
ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ
8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)
เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563-2567
10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 และหากเป็นการลงทุนในหุ้น มีข้อบังคับให้ต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จะเลิกกิจการ
ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค
1. เงินบริจาคทั่วไป
เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ
สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
สถานพยาบาลของรัฐ
การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง
นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
ทั้งนี้การลดหย่อนผ่านเงินบริจาค ต้องมีการอัปเดตเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่เสมอ เพราะอาจมีทั้งองค์กรที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการรับบริจาคที่ปรับปรุงใหม่
ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
1. ดอกเบี้ยบ้าน
สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
2. ช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี 2566
ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 - 15 กุมภาพันธ์ 2566
สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
10,000 บาทที่เหลือ ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นกระดาษที่หมึกจางหายได้ แนะนำให้สแกนไฟล์หรือถ่ายเอกสารประกบไว้อีก 1 ชุด
“รายละเอียดข้างต้น ถือได้ว่าเป็นรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 ที่คุณควรจะต้องรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองสำหรับการยื่นภาษีที่กำลังจะถึง อีกทั้งทางทีมงานยังมีคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2566 มาฝาก โดยต้องขอบอกก่อนเลยว่า ผู้ที่พึ่งยื่นภาษีปี 2566 เป็นครั้งแรก ไม่ควรพลาดรายละเอียดที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้อย่างเด็ดขาด และรายละเอียดที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง เราไปติดตามคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2566 พร้อม ๆ กันเลย”
ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี 2566 ?
คนไทยทุกคนที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะแบ่งเกณฑ์ตามสถานะโสดและสมรส โดยมีรายละเอียดดังนี้
สถานะโสด
มีเงินได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว (เงินเดือน) รวมแล้วปีละ 120,000 บาท ขึ้นไป
มีเงินได้ประเภทอื่น เช่น ค่าคอมมิชชั่น รวมแล้วปีละ 60,000 บาท ขึ้นไป
สถานะสมรส
มีเงินได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว (เงินเดือน) รวมแล้วปีละ 220,000 บาท ขึ้นไป
มีเงินได้ประเภทอื่น เช่น ค่าคอมมิชชั่น รวมแล้วปีละ 120,000 บาท ขึ้นไป
ทั้งนี้คุณสามารถดูวิธีการยื่นภาษี 2566 ได้ที่บทความ : รวมวิธียื่นภาษีออนไลน์ 2566 ฉบับมนุษย์เงินเดือนมือใหม่
มีเงินเดือนเท่าไหร่ ถึงต้องยื่นภาษี 2566 ?
บุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 10,000 บาท อย่างไรก็ตามบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 26,583 บาท ถึงแม้ว่าจะมีรายได้เกินเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะยังมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ที่สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีได้นั่นเอง
ช่องทางยื่นภาษี 2566 มีช่องทางไหนบ้าง ?
สำหรับช่องทางการยื่นภาษีปี 2566 จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ช่องทาง ดังนี้
1. ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต
ช่องทางการยื่นภาษีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คงจะเป็นการยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง www.rd.go.th อีกทั้งคุณยังสามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย
2. ยื่นแบบด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยตนเองได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยเอกสารที่ต้องจัดเตรียมได้แก่
หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี
หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ก็ให้คุณทำตามขั้นต่อดังต่อไปนี้ได้เลย
ไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สะดวก
แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ยื่นแบบภาษีและเอกสารประกอบการยื่นภาษีให้กับเจ้าหน้าที่
ชำระเงินค่าภาษี (หากมี)
ผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ยื่นภาษีอย่างไร ?
สำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ “ภาษี” ได้ที่บทความ : “ภาษี” เรื่องต้องรู้สำหรับเจ้าของธุรกิจอพาร์ทเมนท์
รู้หรือไม่ ? ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็ลดหย่อนภาษีได้นะ
โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ที่บทความ : อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ปี 2566
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่ทางทีมงาน Renthub ได้นำมาฝาก และไว้โอกาสหน้าเราจะมีข้อมูลหรือเรื่องราวอะไรดี ๆ มาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวมทุก Lifestyle ของชาวหอพัก อพาร์ทเม้นท์
ดาวน์โหลด Renthub App เพื่อให้การค้นหาหอพักของคุณเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วได้ที่ > คลิก (รองรับทั้งระบบ IOS และ Android)