Renthub Logo
Home Icon

เตรียมตัวให้พร้อม! สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2566

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
21 November 2023
เตรียมตัวให้พร้อม! สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2566

ในช่วงเวลาสิ้นปี นอกเหนือจากกลิ่นอายของการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนไทย(ผู้มีรายได้)ทุกคนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเลยก็คือ “การยื่นภาษี” ซึ่งในวันนี้เราก็จะขอมากล่าวถึงรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษี เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน ทั้งนี้ในปี 2566 รายการลดหย่อนภาษีมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปี 2565 และรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามข้อมูลที่ทางทีมงานได้นำมาฝากพร้อม ๆ กันเลย

ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว และครอบครัว

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัว

หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคน ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส

หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท ซึ่งคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่า ต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน

3. ค่าลดหย่อนบุตร

3.1 บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้

  • ต้องอายุไม่เกิน 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปีที่กำลังศึกษากำลังศึกษาในระดับอนุปริญญา (ปวส.) ขึ้นไป
  • บุตรที่เกิดก่อนปี 2561 หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
  • บุตรที่เกิดหลังปี 2561 คนแรกหักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท คนที่ 2 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท
  • ใช้ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง
  • บุตรที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี

3.2 บุตรบุญธรรม

  • ต้องจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย
  • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน
  • หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายด้วย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก
  • บุตรบุญธรรมที่นำมาใช้สิทธิจะต้องมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี

4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์

5. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

  • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท
  • สามารถหักลดหย่อนได้ทั้งของตนเองและของคู่สมรส รวมสูงสุด 4 คน
  • บิดา มารดาที่นำมาใช้สิทธิ ต้องมีอายุมากกว่า 60 ปี และต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท
  • ในกรณีครอบครัวนั้นมีบุตรหลายคน พี่น้องจะสามารถนำบิดา มารดา ไปใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีซ้ำได้
  • บุตรบุญธรรม ไม่สามารถนำบิดา มารดา ที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้

6. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ

  • หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  • ผู้พิการจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ และต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะของผู้มีรายได้
  • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพเป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้ง 2 ส่วน และไม่จำกัดจำนวนคน เช่น กรณีอุปการะเลี้ยงดูบิดา หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท และบิดาเป็นผู้พิการ ก็จะได้ค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 60,000 บาท รวมแล้วสามารถหักค่าลดหย่อนได้ 90,000 บาท หรือกรณีเป็นคู่สมรสจะหักได้ถึง 120,000 บาท เป็นต้น
  • ในกรณีที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ไม่ได้เป็นบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้มีเงินได้ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน

ค่าลดหย่อนภาษี จากการซื้อประกัน การออมเงิน และการลงทุน

1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม

หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่บังคับหักเข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยมีขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุด 750 บาท/เดือน (จำนวนสูงสุดจะคิดที่ฐานเงินเดือน 15,000 บาท เท่านั้น)

2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์

  • ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น
  • หากคู่สมรสไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันของคู่สมรสมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม และสูงสูด 10,000 บาท

3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ

หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

  • หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  • กรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา

สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป

6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท

7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้หากสนใจที่จะลงทุนใน กอช. จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ

  • ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี
  • ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 (1)
  • ไม่ได้เป็นข้าราชการ และสมาชิก กบข., ไม่ได้เป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) และไม่ได้เป็นพนักงานประจำ

8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ปัจจุบันจะให้สิทธิลดหย่อนได้ 5 ปี คือ ปี 2563-2567

10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)

หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 และหากเป็นการลงทุนในหุ้น มีข้อบังคับให้ต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จะเลิกกิจการ

ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค

1. เงินบริจาคทั่วไป

เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน คือ

  • สถานศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
  • สถานพยาบาลของรัฐ
  • การบริจาคผ่าน e-Donation ผ่านสภากาชาด, กองทุนยุติธรรม, หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย, กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กองทุนสนับสนุนการวิจัยตามกฎหมาย, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขม, กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก, การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ให้กับสถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา, โครงการฝึกอบรมอาชีพ สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก และเงินบริจาคให้คนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ

3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง

นำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ทั้งนี้การลดหย่อนผ่านเงินบริจาค ต้องมีการอัปเดตเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่เสมอ เพราะอาจมีทั้งองค์กรที่เพิ่มขึ้น และเงื่อนไขการรับบริจาคที่ปรับปรุงใหม่

ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. ดอกเบี้ยบ้าน

สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2. ช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี 2566

  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 - 15 กุมภาพันธ์ 2566
  • สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
  • 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
  • 10,000 บาทที่เหลือ ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
  • ทั้งนี้ผู้มีเงินได้ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งแบบกระดาษและแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นกระดาษที่หมึกจางหายได้ แนะนำให้สแกนไฟล์หรือถ่ายเอกสารประกบไว้อีก 1 ชุด

“รายละเอียดข้างต้น ถือได้ว่าเป็นรายการลดหย่อนภาษีปี 2566 ที่คุณควรจะต้องรู้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเองสำหรับการยื่นภาษีที่กำลังจะถึง อีกทั้งทางทีมงานยังมีคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2566 มาฝาก โดยต้องขอบอกก่อนเลยว่า ผู้ที่พึ่งยื่นภาษีปี 2566 เป็นครั้งแรก ไม่ควรพลาดรายละเอียดที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้อย่างเด็ดขาด และรายละเอียดที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง เราไปติดตามคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการยื่นภาษี 2566 พร้อม ๆ กันเลย”

ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี 2566 ?

คนไทยทุกคนที่มีรายได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำจะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะแบ่งเกณฑ์ตามสถานะโสดและสมรส โดยมีรายละเอียดดังนี้

สถานะโสด 

  • มีเงินได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว (เงินเดือน) รวมแล้วปีละ 120,000 บาท ขึ้นไป
  • มีเงินได้ประเภทอื่น เช่น ค่าคอมมิชชั่น รวมแล้วปีละ 60,000 บาท ขึ้นไป

สถานะสมรส   

  • มีเงินได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว (เงินเดือน) รวมแล้วปีละ 220,000 บาท ขึ้นไป
  • มีเงินได้ประเภทอื่น เช่น ค่าคอมมิชชั่น รวมแล้วปีละ 120,000 บาท ขึ้นไป

ทั้งนี้คุณสามารถดูวิธีการยื่นภาษี 2566 ได้ที่บทความ : รวมวิธียื่นภาษีออนไลน์ 2566 ฉบับมนุษย์เงินเดือนมือใหม่

มีเงินเดือนเท่าไหร่ ถึงต้องยื่นภาษี 2566 ?

บุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนเกิน 120,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 10,000 บาท อย่างไรก็ตามบุคคลธรรมดาที่มีเงินเดือนไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี หรือเดือนละ 26,583 บาท ถึงแม้ว่าจะมีรายได้เกินเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะยังมีค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ที่สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ที่ต้องเสียภาษีได้นั่นเอง

ช่องทางยื่นภาษี 2566 มีช่องทางไหนบ้าง ?

สำหรับช่องทางการยื่นภาษีปี 2566 จะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 ช่องทาง ดังนี้

1. ยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต

ช่องทางการยื่นภาษีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คงจะเป็นการยื่นภาษีผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง www.rd.go.th อีกทั้งคุณยังสามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางนี้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย

2. ยื่นแบบด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่

คุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยตนเองได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยเอกสารที่ต้องจัดเตรียมได้แก่

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ)
  • รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี

หลังจากจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ก็ให้คุณทำตามขั้นต่อดังต่อไปนี้ได้เลย

  1. ไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สะดวก
  2. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าต้องการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  3. ยื่นแบบภาษีและเอกสารประกอบการยื่นภาษีให้กับเจ้าหน้าที่
  4. ชำระเงินค่าภาษี (หากมี)

ผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ยื่นภาษีอย่างไร ?

สำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ คุณสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ “ภาษี” ได้ที่บทความ : “ภาษี” เรื่องต้องรู้สำหรับเจ้าของธุรกิจอพาร์ทเมนท์

รู้หรือไม่ ? ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยก็ลดหย่อนภาษีได้นะ

โดยคุณสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ที่บทความ : อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ปี 2566

เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลที่ทางทีมงาน Renthub ได้นำมาฝาก และไว้โอกาสหน้าเราจะมีข้อมูลหรือเรื่องราวอะไรดี ๆ มาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวมทุก Lifestyle ของชาวหอพัก อพาร์ทเม้นท์

ดาวน์โหลด Renthub App เพื่อให้การค้นหาหอพักของคุณเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ปลายนิ้วได้ที่ > คลิก (รองรับทั้งระบบ IOS และ Android)

RELATED ARTICLES

กฎหมายครอบครองปรปักษ์ คืออะไร ?

กฎหมายครอบครองปรปักษ์ คืออะไร ?

ในช่วงที่ผ่านมาหลาย ๆ คน คงจะเห็นประเด็นข่าวอันร้อนแรงเกี่ยวกับการ “ครอบครองปรปักษ์” กันมาบ้างแล้ว จนเป็นเหตุให้คำ ๆ นี้ ได้กลายเป็นคำค้นหาที่ติดอันดับใน Google ว่าการครอบครองปรปักษ์คืออะไร ? มีหลักเกณฑ์มีข้อบังคับหรือมีข้อเกี่ยวข้องกับทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ? ซึ่งอันดับแรกเราต้องขอบอกก่อนเลยว่าการครอบครองปรปักษ์ ถือได้ว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่คนไทยทุกคนควรจะต้องทำความเข้าใจและรับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ เพื่อที่จะได้รักษากรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอสังหาฯ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาในอนาคต และในวันนี้ทีมงาน Renthub จึงจะขอมาสรุปใจความสำคัญของ “การครอบครองปรปักษ์” ในแบบฉบับที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ให้คุณได้อ่านกัน

โพสต์เมื่อ04 April 2024
เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2567" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2567" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าการเช็คราคาประเมินที่ดินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เราก็คงจะต้องขอบอกเลยว่าคุณคิด “ผิด” เพราะในปัจจุบันนี้กรมธนารักษ์และกรมที่ดินได้เปิดให้ประชาชนสามารถเช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินให้เสียเวลาเหมือนในอดีต อีกทั้งเจ้าของหอพักหรือผู้ที่กำลังมองหาทำเลเพื่อสร้างหอพักอพาร์ทเม้นท์คุณก็สามารถเช็คราคาประเมินที่ดินได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน ดังต่อไปนี้...

โพสต์เมื่อ09 February 2024

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2019, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram