สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่ต้องการประกอบกิจการหอพัก โดยให้บุคคลทั่วไปเข้าพัก สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือรายละเอียดของ พ.ร.บ หอพัก หรือ พระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘ ก่อนที่จะประกอบกิจการ เพราะพ.ร.บ เป็นกฎเกณฑ์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการหอพักทุกคนควรทราบก่อนยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. การประกอบกิจการหอพัก
ตามที่พ.ร.บ หอพักได้กำหนดไว้หอพักสามารถประกอบกิจการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ หอพักสถานศึกษาและหอพักเอกชน
หอพักสถานศึกษา คือ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นสถานศึกษา ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัยที่จัดการศึกษาในระบบ โดยไม่รวมถึงสถาบันหรือมหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
หอพักเอกชน คือ หอพักที่ผู้ประกอบกิจการหอพักเป็นบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ใช่สถานศึกษา
2.ประเภทของหอพัก
โดยพ.ร.บ หอพัก ได้กำหนดประเภทของหอพักเพียง 2 ประเภทเท่านั้นคือ หอพักชาย และหอพักหญิง (ตามมาตรา 8)
3.คุณสมบัติของผู้ประกอบการสำหรับหอพักเอกชน
ภายในพ.ร.บ หอพัก หรือพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเลยว่าผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักสำหรับเอกชนต้องมีคุณสมบัติ
ดังนี้
มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
ไม่ถูกระบุว่าเป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
ไม่เคยรับโทษจำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษเท่านั้น
ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด
ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักในระยะเวลาห้าปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต
4.อายุของใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน
ภายในพ.ร.บ หอพัก หรือพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา 37 ได้ระบุว่าใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชนมีอายุ 5 ปี โดยนับจากวันที่ออกใบอนุญาต โดยผู้จัดการหอพักมีอายุ 2 ปีนับว่าแต่วันที่ออกใบอนุญาตเช่นกัน
ขอบคุณรูปภาพจาก ริณวรา อพาร์ทเม้นท์
5.การต่ออายุของใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขอต่ออายุของใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชนต้องยื่นคำขออนุญาตต่อนายทะเบียนก่อนที่ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักจะสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อยื่นคำขอเรียบร้อยแล้วผู้ยื่นคำขอจะมีสถานะเป็นผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือไม่อนุญาตให้ต่อใบอนุญาต
6.สิทธิประโยชน์และการสนับสนุน
สำหรับหอพักเอกชนที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมการจะได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนตามในพ.ร.บ หอพัก มาตราที่ 41 ดังนี้
สิทธิที่จะได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษ
สิทธิที่จะได้รับลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย หรือภาษีอื่นใดในทำนองเดียว
สิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินหรือวัสดุอุปกรณ์
โดยการประกาศเกียรติคุณและการได้รับการสนับสนุนนั้นจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกำหนด
7.บทลงโทษ
การกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบกิจการหอพักตามพ.ร.บ หอพัก มีบทลงโทษดังนี้
หอพักที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้จดทะเบียนประกอบกิจการหอพัก ตามมาตรา 76 ระบุไว้ว่าจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนมีการฝ่าฝืนอยู่
ผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้จัดการหอพักฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.บ หอพัก อาทิ การรับผู้พักที่เป็นนักเรียนชายหญิงปะปนกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงไม่จัดทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือซึ่งมีรายการตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการมือใหม่ต้องศึกษาให้ละเอียดเพื่อที่จะไม่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ที่ได้กำหนดเอาไว้
ทั้ง 7 ข้อเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหอพักมือใหม่ควรทราบก่อนที่จะประกอบกิจการหอพักโดยต้องศึกษารายละเอียดการประกอบกิจการตามที่พ.ร.บ หอพักระบุไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากในการประกอบกิจการได้!