สำหรับใครที่กำลังจะเปลี่ยนหอพักแห่งใหม่หรือกำลังที่จะเซ็นสัญญาเช่าหอพัก คุณคงจะต้องรีบกดเข้ามาอ่านบทความนี้แบบด่วนๆ เนื่องจากวันนี้ทีมงาน Renthub ได้รวบรวมรายละเอียดภายในสัญญาเช่าหอพักที่ควรจะต้องมีมาฝาก ซึ่งเราต้องขอบอกก่อนเลยว่า รายละเอียดภายในสัญญาเช่าของหอพักแต่ละที่นั้นจะมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องของกฎข้อบังคับ รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขทั้งค่าปรับ ค่าเช่า การคิดค่าน้ำ/ค่าไฟ ฯลฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆ สัญญาเช่าหอพักที่ดีควรจะต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของทั้งฝ่ายผู้เช่าและผู้ให้เช่า ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปพบกับข้อมูลที่ภายในสัญญาเช่าหอพักที่ดีควรจะต้องมีพร้อมๆ กันเลย!
ชื่อของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ สถานที่ตั้ง และผู้ที่มีอำนาจในการในการสัญญา
อัตราค่าเช่าต่อเดือน : ทางผู้ให้เช่าต้องกำหนดขอบเขตในการชำระค่าเช่าให้ชัดเจน ว่าจะต้องจ่ายภายในวันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ของทุกๆ เดือน
เงื่อนไขหากมีการชำระค่าเช่าล่าช้า : ภายในสัญญาเช่า ต้องมีการระบุเงื่อนไขหากมีการชำระค่าเช่าล่าช้าไว้อย่างชัดเจน อาทิเช่น อัตราค่าปรับต่อวัน จะยกเลิกสัญญาภายในกี่วันหากมีการชำระล่าช้า เป็นต้น
เงื่อนไขช่องทางการชำระค่าเช่า : ในสัญญาเช่าหอพักควรที่จะมีบอกช่องทางการชำระเงิน อาทิเช่น ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น หรือโอนค่าเช่าไปยังชื่อบัญชีไหน เป็นต้น
กำหนดระยะเวลาเช่า : โดยภายในสัญญาเช่าต้องระบุวันเดือน/ปีที่เริ่มต้นการเช่า และวัน/เดือนปีที่หมดสัญญาเช่า
เงื่อนไขจำนวนผู้อาศัยภายในห้องพัก : ผู้ให้เช่าต้องระบุไว้ภายในสัญญาเช่าว่าสามารถมีจำนวนผู้ที่เข้าพักได้ไม่เกินกี่คน
ระบุการคิดอัตราค่าน้ำ-ค่าไฟให้ชัดเจน
ระบุการเก็บค่าส่วนกลาง : โดยต้องระบุว่าจะต้องชำระเป็นแบบรายเดือนหรือรายปี ซึ่งแต่ละหอพักจะมีรายละเอียดในส่วนนี้ที่แตกต่างกันออกไป
รายละเอียดสิ่งของภายในห้อง : ภายในสัญญาเช่าต้องระบุเอาไว้ว่าภายในห้องพักนั้น มีอะไรที่เป็นของทางหอพักบ้าง ? อาทิเช่น ทีวี เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้กี่หลัง โต๊ะกี่ตัว เป็นต้น
ข้อกำหนด/ข้อห้าม ภายในหอพัก : รายละเอียดภายในสัญญาเช่าในข้อนี้ถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากผู้เช่าจะได้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ควรมีบทลงโทษระบุเอาไว้ด้วย อาทิเช่น ห้ามเสพ/จำหน่ายสารเสพติดภายในหอพัก หากจับได้จะมีการยกเลิกสัญญาเช่าในทันที เป็นต้น (ผู้เช่าจะต้องเซ็นรับทราบทุกหน้าของกฎระเบียบข้อบังคับในการเข้าพักอาศัย)
เงื่อนไขการซ่อมแซมหากมีอุปกรณ์ภายในห้องชำรุด : รายละเอียดในส่วนนี้จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าได้เป็นอย่างดี เนื่องจากภายในสัญญาเช่าต้องระบุเอาไว้เลยว่าหากอุปกรณ์ภายในห้องชำรุดเกิดขึ้นใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หรือมีเงื่อนไขในการรับผิดชอบอย่างไร ?
เงื่อนไขการเก็บเงินมัดจำ : ภายในสัญญาเช่าต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะมีการเรียกเก็บเงินค่ามัดจำเท่าไหร่ ? และจะคืนให้เมื่ออยู่ครบกี่เดือน ?
เงื่อนไขการวางเงินค้ำประกัน : เงินในส่วนนี้เป็นเงินในส่วนที่ผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บเพื่อเป็นหลักประกันและจะคืนให้ก็ต่อเมื่อผู้เช่าได้ทำการยกเลิกสัญญาเช่าและคืนกุญแจห้อง โดยรายละเอียดในข้อนี้จะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจำนวนเงินค้ำประกันที่เรียกเก็บนั้นเป็นจำนวนเท่าไหร่ ? และต้องเป็นจำนวนเงินที่จะไม่มีการคิดดอกเบี้ยใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ในกรณีที่ภายในห้องมีการชำรุดจะมีการหักจากเงินค้ำประกันเท่าไหร่ ? ซึ่งผู้ให้เช่าต้องระบุรายละเอียดไว้ให้อย่าชัดเจน อาทิเช่น มีการเปลี่ยนแปลงสีห้องโดยการทาสี(ผิดข้อกำหนดที่ทางหอพักตั้งไว้) จะคิดเป็นเงิน 2,000 บาท ซึ่งสามารถหักจากเงินค้ำประกันได้เลยทันที เป็นต้น
ข้อกำหนดเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง : สำหรับหอพักไหนที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ คุณต้องดูรายละเอียดในส่วนนี้ให้ดี ว่ามีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขอย่างไรบ้าง
เงื่อนไขเกี่ยวกับยานพาหนะ : ภายในสัญญาต้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถนำรถเข้ามาจอดในบริเวณหอพักได้จำนวนกี่คัน ? มีการเรียกเก็บค่าที่จอดหรือไม่ ? ซึ่งถ้าหากมีเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ ? และเรียกเก็บเป็นแบบรายเดือนหรือรายปี
เงื่อนไขการต่อสัญญา : โดยรายละเอียดในส่วนนี้ก็คือจะต้องแจ้งกับผู้ให้เช่าล่วงหน้ากี่วันหรือกี่เดือน มีการปรับลดราคาให้เท่าไหร่ เป็นต้น
เงื่อนไขในกรณีที่ผู้เช่ายกเลิกสัญญาก่อนกำหนด : ทางผู้ให้เช่าจะต้องระบุไว้ในสัญญาเช่าว่า หากผู้เช่าขอยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด จะมีผลอย่างไรบ้าง ? อาทิเช่น คืนเงินประกัน 50% เป็นต้น
สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานการตรวจรับห้องแนบท้ายสัญญา
สัญญาเช่าต้องมี 2 ฉบับ : ฉบับที่ 1 คือของผู้ให้เช่า ฉบับที่ 2 คือของผู้เช่า อีกทั้งรายละเอียดของสัญญาเช่าทั้ง 2 ฉบับ จะต้องตรงกันทั้งหมด
รายละเอียดข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่ควรจะต้องมีภายในสัญญาเช่าหอพักทั้งสิ้น ทั้งนี้ยิ่งมีรายละเอียดเยอะมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งทำให้ผู้เช่าและผู้ให้เช่าเข้าใจตรงกันในเรื่องของเงื่อนไขและข้อบังคับต่างๆ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งหากผู้ให้เช่ามีการทำผิดสัญญาเช่า อาทิเช่น มีการปรับเพิ่มค่าเช่าที่นอกเหนือจากในสัญญา การเก็บค่าบริการต่างๆ ที่เกินจริง ฯลฯ ผู้เช่าก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สายด่วน 1166)ได้ โดยใช้สัญญาเช่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการยื่นเรื่อง!