Home Icon

อัปเดตล่าสุด! อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
05 March 2023
อัปเดตล่าสุด! อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคืออะไร ? แล้วเราจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ? นี่คือจะเป็นคำถามยอดนิยมในช่วงเลยก็ว่าได้ ซึ่งก่อนที่จะปีรู้รายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันดับแรกเราต้องขอบอกก่อนว่า ในปี 2566 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะยังคงจัดเก็บในอัตราเท่าเดิมเหมือนกับปี 2563 – 2565 เนื่องจากในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ปรับลดภาษีที่ดินลงอีก 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการปรับลดภาษีที่ดินที่ทำมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว และรายละเอียดจะมีอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามข้อมูลที่ทางทีมงาน Renthub ได้นำมาฝากพร้อมๆ กันเลย

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร ?

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีที่จัดเก็บเป็นรายปีตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน อาคาร ที่ครอบครอง โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การ บริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดเก็บ โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะเรียกภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบสั้นๆ กันว่า “ภาษีที่ดิน” ซึ่งผู้ที่จะต้องเสียภาษีที่ดินนั้นก็คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ดูชื่อเจ้าของตามโฉนดที่ดิน ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน) และผู้ที่ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

ประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษี

สำหรับประเภทที่ดินที่จะต้องเสียภาษีจะอยู่ 4 ประเภท ดังนี้

1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม

ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็คือ พื้นที่ที่ใช้ในการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ โดยจะมีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 0.15%

  • 0 – 75 ล้านบาท : อัตรา 0.01% ล้านละ 100 บาท
  • 75-100 ล้านบาท : อัตรา 0.03% ล้านละ 300 บาท
  • 100 - 500 ล้านบาท : อัตรา 0.05% ล้านละ 500 บาท
  • 500 - 1,000 ล้านบาท : อัตรา 0.05% ล้านละ 700 บาท
  • 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป : อัตรา 0.10% ล้านละ 1,000 บาท

ทั้งนี้หากหากเจ้าของที่เป็นบุคคลธรรมดาและมีที่ดินทำการเกษตร มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่ดินที่มูลค่าเกิน 50 ล้าน จะได้รับยกเว้น 50 ล้านบาทแรก แต่ส่วนเกิน 50 ล้านบาทแรก เสียภาษีตามอัตราปกติ และในกรณีเจ้าของที่ดินเป็นนิติบุคคล ก็จะต้องเสียภาษีที่ดินตามปกติ

ตัวอย่าง

นายสมศักดิ์ เป็นเจ้าของที่ดินเกษตรกรรม ที่มีมูลค่า 70 ล้านบาท หัก 50 ล้านบาทแรกออก เหลือส่วนเกิน 20 ล้านบาท จะต้องเสียภาษี 0.01% เท่ากับ 2,000 บาท

2. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย (หอพักและอพาร์ทเม้นท์จะอยู่ในประเภทนี้)

ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจะมีเพดานภาษีสูงสุด 0.3% กรณีบ้านหลังหลักโดยบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจะได้รับการยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าที่พักอาศัยมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ

  • ไม่ถึง 25 ล้านบาท : อัตรา 0.03% ล้านละ 300 บาท
  • 25 - 50 ล้านบาท : อัตรา 0.05% ล้านละ 500 บาท
  • 50 ล้านขึ้นไป : อัตรา 0.10 % ล้านละ 1,000 บาท

ตัวอย่าง

นายสมศักดิ์มีบ้านพร้อมที่ดินมูลค่า 60 ล้านบาท และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในส่วน 50 ล้านบาทแลกได้ยกเว้นภาษี ส่วนที่เหลืออีก 10 ล้าน ก็นำมาคำนวณภาษี 0.03% ซึ่งจะเท่ากับ 3,000 บาท

  • ในกรณีผู้ที่มีบ้านหลายหลังไม่ว่าจะมีชื่อหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ที่ดินหรือบ้านหลังที่ 2 จะต้องเสียภาษีทั้งหมด(ไม่ได้รับการยกเว้น)
  • ในกรณีเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน(คอนโดมิเนียมหรือสร้างบ้านอยู่บนที่ดินเช่า) จะได้รับการยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษีที่ดินตามอัตราปกติ
  • ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับมรดกมาจะได้ลดภาษีอีก 50%

“และสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสียภาษีในอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งจะยึดจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหลัก จะไม่ได้เสียภาษีประเภทที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เพราะจุดประสงค์หลักคือการอยู่อาศัยจึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ที่ต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันกับการอยู่อาศัยปกตินั่นเอง”

3. ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม

ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม หมายถึง ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและการอยู่อาศัย อาทิเช่น โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ โรงงาน หอพักรายวัน บ้านเช่ารายวัน โดยต้องเสียภาษีตามอัตราปกติ

  • 0 - 50 ล้านบาท : อัตรา 0.3% ล้านละ 3,000 บาท
  • 50 - 200 ล้านบาท : อัตรา 0.4% ล้านละ 4,000 บาท
  • 200 - 1,000 ล้านบาท : อัตรา 0.5% ล้านละ 5,000 บาท
  • 1,000 - 5,000 ล้านบาท : อัตรา 0.6% ล้านละ 6,000 บาท
  • 5,000 ล้านบาทขึ้นไป : อัตรา 0.7% ล้านละ 7,000 บาท

4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ประเภทที่ดินว่างเปล่า คือ ที่ดินที่ปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้าง ไม่ได้มีการทำประโยชน์อะไร ซึ่งเราต้องขอบอกเลยว่าที่ดินประเภทนี้เป็นที่ดินประเภทที่ต้องเสียภาษีแพงที่สุด โดยเพดานภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 1.2% (จะเพิ่มเป็น 3% เมื่อปล่อยรกร้างว่างเปล่าติดต่อกัน 3 ปี)

  • 0 - 50 ล้านบาท : อัตรา 0.3% ล้านละ 3,000 บาท
  • 50 -200 ล้านบาท : อัตรา 0.4% ล้านละ 4,000 บาท
  • 200 - 1000 ล้านบาท : อัตรา 0.5% ล้านละ 5,000 บาท
  • 1,000 - 5,000 ล้านบาท : อัตรา 0.6% ล้านละ 6,000 บาท
  • 5,000 ล้านบาทขึ้นไป : อัตรา 0.7% ล้านละ 7,000 บาท

วิธีการคิดคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

1. ที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง

ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ที่ดิน = มูลค่าที่ดิน

มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ที่ดิน = มูลค่าที่ดิน

(ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา = มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง

(มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

3. ห้องชุด

ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.) = มูลค่าห้องชุด

มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

เราจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อไหร่ ?

สำหรับการชำระภาษีที่ดินนั้น ตามกฎหมายได้กำหนดระยะเวลาการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้ดังนี้

  • ประกาศราคาประเมินที่ดิน : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/สำนักงานเขต ออกหนังสือแจ้งการครอบครองที่ดิน/บ้าน ให้ผู้เสียภาษีทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ แต่สำหรับในปี 2566 ได้มีการขยายกำหนดเวลาเป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2566
  • แจ้งการประเมินภาษีให้ผู้เสียภาษีทราบ : จากเดิมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายเวลาเป็นภายในเดือนเมษายน 2566 เมื่อได้รับหนังสือแจ้งให้ตรวจสอบอัตราภาษี ประเภทของภาษีที่จัดเก็บให้เรียบร้อย กรณีที่พบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง เช่น ประเมินบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัย เป็นการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้เสียภาษีมากขึ้น หรือมีข้อมูลผิดพลาดตรงไหน เราสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ภ.ด.ส.6
  • *** ชำระภาษี *** : จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 ขยายเวลาเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 แต่หากต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนเกิน 3,000 บาท เราสามารถใช้สิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่เสียดอกเบี้ย คือต้องจ่ายงวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 เดือนกรกฎาคม และงวดที่ 3 เดือนสิงหาคม
  • อปท. มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ : จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ขยายเวลาเป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566

ช่องทางการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

คุณสามารถเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ด้วยตัวเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ

  • กรุงเทพมหานครฯ : ชำระภาษีที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
  • ต่างจังหวัด : ชำระภาษีที่สำนักงานเทศบาล/ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล/ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายกำหนดหรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด รวมทั้งจุดบริการเคลื่อนที่ที่ อปท. กำหนด
  • เมืองพัทยา : ชำระภาษีที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

เงื่อนไขที่คุณต้องรู้ เมื่อเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างล่าช้า

  • หากไม่มาชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด แต่ต่อมาได้มาชำระภาษีก่อนจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 10 ของจำนวนภาษีค้างชำระ
  • หากมาชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีค้างชำระ
  • หากมาชำระภาษีภายหลังจากที่กำหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับร้อยละ 40 ของจำนวนภาษีค้างชำระ
  • หากไม่ได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนของจำนวนภาษีค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน
  • กรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นให้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี และได้ชำระภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น ให้คิดเงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน
  • เบี้ยปรับอาจงดได้ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย โดยเราจะต้องยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระ

เกร็ดความรู้ ทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นไม่โดนเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

  • สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
  • ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้ใช้หาผลประโยชน์
  • ที่ทำการองค์การสหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ
  • สถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ
  • ทรัพย์สินของสภากาชาดไทย
  • ศาสนสมบัติที่ไม่ได้หาผลประโยชน์
  • ทรัพย์สินที่ใช้เป็นสุสานสาธารณะหรือฌาปนสถานสาธารณะ
  • มูลนิธิหรือองค์การที่ประกอบกิจการสาธารณะ
  • ทรัพย์สินของเอกชนที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์
  • ทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร
  • ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม

รายละเอียดข้างต้นเป็นข้อมูลเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 2566 ที่ทางทีมงาน Renthub ได้นำมาฝาก ซึ่งไว้โอกาสหน้าจะมีข้อมูลดีๆ อะไรมาฝากคุณอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Renthub Blog : บทความน่ารู้ คู่ชาวหอพัก

ข้อมูลอ้างอิง : มาตรา 7 พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และเว็บไซต์ Itax

RELATED ARTICLES

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67)

สำหรับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ไม่ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจหรือทำมานานแล้วอาจกำลังหาสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 อยู่ ในวันนี้ทีมงาน Renthub ก็ได้รวบรวมข้อมูลอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ (ข้อมูลอัปเดต เดือน ก.ค. 67) มาฝาก

โพสต์เมื่อ19 July 2024
แคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ขึ้นเงินที่ไหนได้บ้าง ?

แคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ขึ้นเงินที่ไหนได้บ้าง ?

การใช้แคชเชียร์เช็คก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นักธุรกิจส่วนใหญ่เลือกใช้ และก็ปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่าหลาย ๆ คน ยังไม่รู้จักว่าแคชเชียร์เช็คคืออะไร ? ต่างจากการเซ็นต์เช็คแบบธรรมดาหรือไม่ ? และสามารถนำแคชเชียร์เช็คไปขึ้นเงินได้ที่ไหน ? ซึ่งในวันนี้เราจึงจะขอพาคุณไปทำความรู้จักกับ “แคชเชียร์เช็ค” กัน

โพสต์เมื่อ10 July 2024

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2024, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram
Instagram
Instagram