Home Icon

กฎหมายครอบครองปรปักษ์ คืออะไร ?

BY
Natni P.
โพสต์เมื่อ
04 April 2024
กฎหมายครอบครองปรปักษ์ คืออะไร ?

ในช่วงที่ผ่านมาหลาย ๆ คน คงจะเห็นประเด็นข่าวอันร้อนแรงเกี่ยวกับการ “ครอบครองปรปักษ์” กันมาบ้างแล้ว จนเป็นเหตุให้คำ ๆ นี้ ได้กลายเป็นคำค้นหาที่ติดอันดับใน Google ว่าการครอบครองปรปักษ์คืออะไร ? มีหลักเกณฑ์มีข้อบังคับหรือมีข้อเกี่ยวข้องกับทางกฎหมายอย่างไรบ้าง ? ซึ่งอันดับแรกเราต้องขอบอกก่อนเลยว่าการครอบครองปรปักษ์ ถือได้ว่าเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่คนไทยทุกคนควรจะต้องทำความเข้าใจและรับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ เพื่อที่จะได้รักษากรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอสังหาฯ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาในอนาคต และในวันนี้ทีมงาน Renthub จึงจะขอมาสรุปใจความสำคัญของ “การครอบครองปรปักษ์” ในแบบฉบับที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ให้คุณได้อ่านกัน

 

การครอบครองปรปักษ์คืออะไร ?

การครอบครองปรปักษ์คืออะไร ? .jpg

สำหรับการครอบครองปรปักษ์ คือ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์  โดยการครอบครองปรปักษ์ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ระบุว่า

“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

หรือหากจะสรุปแบบง่าย ๆ เลยก็คือ หากคุณไม่เข้าไปดูแลบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาฯ เป็นเวลานาน จนมีบุคคลอื่นเข้าไปใช้ประโยชน์และปฏิบัติครบหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (บุคคลอื่นได้เข้าไปครอบครองอสังหาฯ ของคุณติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี (5 ปี สำหรับสังหาริมทรัพย์) ก็จะทำให้คุณเสียกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นไปโดยปริยาย (แม้จะมีโฉนดที่ดินอยู่ในมือ) ส่งผลให้เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ทุกรูปแบบควรจะต้องเข้าไปดูแลอสังหาฯ อยู่เสมอ ๆ เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้น  

** สังหาริมทรัพย์ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ติดอยู่กับที่ สามารถนำติดตัวไปไหนมาไหนได้ เช่น เพชร ,ทอง , เครื่องปรับที่มีมูลค่า, รถยนต์ ฯลฯ)

 

หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์

หลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์.jpg

สำหรับการครอบครองปรปักษ์อสังหาริมทรัพย์มีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ดังนี้

  1. ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของผู้อื่น
  2. โดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
  3. ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นระยะเวลา 10 ปี และ 5 ปี สำหรับสังหาริมทรัพย์

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองปรปักษ์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองปรปักษ์.jpg

  • การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนด โฉนดตราจอง หรือเอกสารกรรมสิทธิ์ประเภทอื่น ๆ ส่วนทรัพย์ประเภทที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้
  • แต่อาจแย่งการครอบครองกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 แต่ไม่มีกฎหมายรับรองให้สามารถยื่นคำร้องหรือคำฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ได้กรรมสิทธิ์ได้แบบครอบครองปรปักษ์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5389/2549)
  • การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ทรัพย์ของตนเองไม่สามารถอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ เช่น อ้างว่าเป็นที่ดินของตนเองแต่ใส่ชื่อของคนอื่นแทน (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 538/2536) หรืออ้างว่าครอบครองปรปักษ์ในที่ดินที่ได้รับมรดกมา (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4843/2545)
  • การครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ผู้ครอบครองไม่จำเป็นต้องทราบว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น อาจเข้าใจว่าเป็นของตนเองก็ได้ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2551, 5596/2552)
  • การครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ คือ ต้องใช้สอยทรัพย์นั้นอย่างเดียวกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ ขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์นั้น และต้องไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิหรือยอมรับสิทธิของบุคคลอื่น เช่น
    • การที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขายถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2551)
    • การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองที่ดินมรดกทั้งหมด ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาททุกคน ต้องมีการบอกกล่าวต่อทายาทอื่น ๆ ก่อนว่าเจตนายึดถือเพื่อตนจึงจะเริ่มนับว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ได้ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2760/2548)
    • การครอบครองที่ดินโดยเจ้าของที่ดินอนุญาตให้อยู่อาศัยไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2539)
    • เจ้าของรวมคนหนึ่งครอบครองที่ดินถือว่าครอบครองแทนเจ้าของรวมคนอื่น ๆ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 945/2537)
  • ถ้ามีการโอนกรรมสิทธิ์ในระหว่างที่ครอบครองปรปักษ์ยังไม่ครบ 10 ปี และผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลทำให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5801/2544, 8700/2550)
  • ต้องเป็นการครอบครองโดยสงบ เช่น ไม่ได้ถูกฟ้องคดี และต้องเปิดเผย คือ ไม่ได้หลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่แสดงออกต่อบุคคลทั่วไปโดยเปิดเผย

 

วิธีป้องกันการครอบครองปรปักษ์จากบุคคลอื่น

วิธีป้องกันการครอบครองปรปักษ์จากบุคคลอื่น .jpg

  • ต้องหมั่นเดินทางไปดูเพื่อตรวจตราที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นประจำ อย่างน้อย 3 - 6 เดือน ต่อ 1 ครั้ง
  • ติดป้าย/ล้อมรั้วกันเขตที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ให้ชัดเจน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและกำหนดเขตแดนที่แน่นอนว่าตรงไหนเป็นกรรมสิทธิ์ของเราบ้าง
  • เสียภาษีตามกฎหมายกับกรมที่ดินหรือหน่วยงานราชการ
  • ทำธุรกรรมกับกรมที่ดินเป็นครั้งคราว เพื่อตอกย้ำความเป็นเจ้าของที่ดินกับทางภาครัฐ
  • ตรวจสอบว่าหลักหมุดยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ ? หลักหมุดสูญหายหรือเปล่า ? ซึ่งถ้าหลักหมุดหายให้แจ้งความในทันที
  • ควรรังวัดที่ดินอย่างน้อยทุก 5 ปี เพื่อตรวจสอบที่ดินว่าเพิ่มหรือลดลงหรือไม่
  • ให้รีบทำเรื่องคัดค้านหากพบว่าบุคคลอื่นเข้ามาใช้ประโยชน์หรือเข้ามาครอบครองที่ดิน/อสังหาฯ ของคุณ

ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะช่วยลดโอกาสที่บุคคลอื่นจะเข้ามาครอบครองปรปักษ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของคุณได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานศาลยุติธรรม

 

รายละเอียดทั้งหมดเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ที่คนไทยทุกคนควรจะต้องรับรู้ โดยเฉพาะใครที่มีอสังหาฯ ในการครอบครองหลาย ๆ แห่ง จนอาจจะหลงลืมและทำให้ต้องสูญเสียกรรมสิทธิ์ไปโดยไม่รู้ตัว และไว้โอกาสหน้าทีมงานจะนำข้อมูลอะไรมาฝากอีก คุณก็สามารถติดตามบทความดี ๆ แบบนี้ได้ที่ Renthub Blog : บทความที่รวมทุกเรื่องราวของชาวหอพักอพาร์ทเม้นท์ 

RELATED ARTICLES

เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2568" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

เปิดวิธี "เช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ 2568" ทำเองได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก

หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าการเช็คราคาประเมินที่ดินเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เราก็คงจะต้องขอบอกเลยว่าคุณคิด “ผิด” เพราะในปัจจุบันนี้กรมธนารักษ์และกรมที่ดินได้เปิดให้ประชาชนสามารถเช็คราคาประเมินที่ดินออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินให้เสียเวลาเหมือนในอดีต อีกทั้งเจ้าของหอพักหรือผู้ที่กำลังมองหาทำเลเพื่อสร้างหอพักอพาร์ทเม้นท์คุณก็สามารถเช็คราคาประเมินที่ดินได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอน ดังต่อไปนี้...

โพสต์เมื่อ08 February 2025
"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!

กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้ให้ละเอียดละเข้าใจ เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของเจ้าของหอพักหัวหมอ!

โพสต์เมื่อ05 January 2025

POPULAR ARTICLE

"กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
Renthub Logo

บริษัท ซิมเปิ้ล มีเดีย จํากัด
เลขที่ 242, 244, 246 ชั้น 2 ห้องเลขที่ A210A ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 02-105-4287

COPYRIGHT © 2024, ZIMPLE MEDIA CO.,LTD, ALL RIGHTS RESERVED.

FOLLOW UP

Facebook
Line
Youtube
Instagram
Instagram
Instagram