ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ว่ามีเจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบพบเจอกับผู้เช่าหัวหมอ ที่จ้องจะคอยเอารัดเอาเปรียบหรือหาผลประโยชน์จากการเช่าหอพัก อาทิเช่น
ผู้เช่าร้องเรียนกับ สคบ. ว่าเจ้าของหอพักเก็บค่าเช่าเกินจริง
ผู้เช่าร้องเรียนกับทาง สคบ. ว่าเจ้าของหอพักบุกรุกเข้ามาในห้อง/ละเมิดความเป็นส่วนตัว (แม้ว่าผู้เช่าจะค้างชำระและไม่ยอมย้ายออกก็ตาม)
ผู้เช่าร้องเรียนกับ สคบ. ว่าทางหอพักเก็บค่าน้ำ/ค่าไฟแพงกว่าปกติ
ผู้เช่าปล่อยห้องให้ผู้อื่นเช่าต่อ
ผู้เช่าดึงดันไม่ยอมย้ายของออก แม้จะทำผิดกฎที่ร้ายแรง
และอีกหลายๆ ปัญหาที่เจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ต่างต้องได้พบเจอ เพราะฉะนั้นในบทความนี้ทางทีมงาน Renthub จึงได้รวบรวมข้อมูลในประเด็นที่ว่า “เมื่อเจอผู้เช่าหัวหมอ/เข้าข่ายแก๊งหลอกลวง ควรทำอย่างไรดี” มาฝาก ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น เราไปติดตามพร้อมๆ กันเลย
1.รายละเอียดในสัญญาเช่าคือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ผู้เช่าไปแจ้งกับทาง สคบ. ว่าเราเก็บค่าเช่าเกินจริง/เจ้าของหอพักคิดค่าปรับเกินจริง/เจ้าของหอพักคิดค่าน้ำค่าไฟแพงกว่าปกติ หรือไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม สิ่งที่เจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์จะสามารถนำไปเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญได้เลยก็คือ “สัญญาเช่า” เนื่องจากภายในสัญญาเช่าจะมีลายเซ็นของทั้งเจ้าของหอพักและผู้เช่าที่ตกลงร่วมเซ็นสัญญาด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยความยินยอม เพราะฉะนั้นหากผู้เช่าเกิดการตุกติกขึ้นมา เจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์อย่างเราๆ ก็คงจะ “ต้องเร่งทำการชี้แจงความจริงต่อเจ้าหน้าที่ สคบ. พร้อมทั้งแสดงสัญญาเช่า” เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์
: "สัญญาเช่าหอพักที่ดี" ควรมีข้อมูลอะไรบ้าง ?
2.ข้อกฎหมายคือสิ่งที่เจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ควรจะต้องอัปเดตอยู่เสมอ
เรื่องของข้อกฎหมาย/ข้อบังคับใช้เกี่ยวกับหอพักและอพาร์ทเม้นท์เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องรู้และมีการอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอๆ เนื่องจากมีกลุ่มมิจฉาชีพจำนวนไม่น้อยที่มักจะใช้ช่องว่างตรงนี้ในการแทรกแซงกิจการหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ของคุณ โดยใช้คำว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาแอบอ้างและฉวยโอกาสในการคดโกงค่าเช่าหรือเอาเปรียบต่อเจ้าของหอพัก ดังนั้นคุณจึงจำเป็นที่จะต้องคอยติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อปิดช่องว่างในส่วนนี้นั่นเอง
: เรื่องต้องรู้ “กฎหมายใหม่ คุมอพาร์ทเม้นท์”
: "กฎหมายเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ" ในอพาร์ทเม้นท์ เรื่องสำคัญที่ผู้เช่าต้องรู้!
3.ใช้คำสั่งศาลในการขับไล่ผู้เช่า
สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาดนั่นก็คือการเข้าไปขนย้ายทรัพย์สิน/การข่มขู่/การทำลายทรัพย์สินของผู้เช่า เพราะนั่นจะทำให้คุณกลายเป็นผู้เสียเปรียบในเชิงกฎหมายในทันทีหากผู้เช่าหันกลับมาฟ้องร้องคุณ โดยสิ่งที่คุณสามารถทำได้เมื่อเจอผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่าเช่าเลยก็คือส่งเรื่องฟ้องศาลและใช้อำนาจคำสั่งศาลในการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งการกระทำแบบนี้จะช่วยให้ผู้เช่าไม่สามารถหันกลับมาฟ้องร้องคุณได้นั่นเอง
: ผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าหอพัก จัดการอย่างไรดี ?
: รวม “ขั้นตอนการฟ้องขับไล่ผู้เช่า” สำหรับเจ้าของหอพัก
4.ติดกล้องวงจรปิดไว้ปลอดภัยที่สุด
ในบางกรณีภาพจากกล้องวงจรปิดนี่แหละ! จะกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะเข้ามาช่วยยืนยันว่าทางเจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ไม่ได้มีพฤติกรรมบุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินตามที่ผู้เช่าได้กล่าวอ้าง
: เลือกกล้องวงจรปิดสำหรับหอพักแบบไหนดี ที่ตอบโจทย์การใช้งาน!
รายละเอียดข้างต้นเป็นทั้งวิธีรับมือและวิธีป้องกันสำหรับเจ้าของหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ ที่บังเอิญจะต้องพบเจอกับผู้เช่าหัวหมอหรือเข่าข่ายแก๊งมิจฉาชีพ ซึ่งสิ่งสำคัญมากที่สุดสำหรับการประกอบกิจการหอพัก/อพาร์ทเม้นท์เลยก็คือ “สัญญาเช่า” เพราะนอกจากสัญญาเช่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญได้แล้ว รายละเอียดภายในยังช่วยให้ทั้งเจ้าของหอพักและผู้เช่ามีความเข้าใจที่ตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายอีกด้วย ซึ่งในโอกาสหน้าทางทีมงาน Renthub จะนำข้อมูลที่น่าสนใจอะไรมาฝากคุณอีก คุณก็สามารถติดตามพวกเราได้ที่ Renthub Blog : รวมบทความหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ น่ารู้คู่ชาวหอ